รีเซต

ระทึก ! จุดดับบนดวงอาทิตย์ขยายใหญ่กว่าโลก 10 เท่า ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง

ระทึก ! จุดดับบนดวงอาทิตย์ขยายใหญ่กว่าโลก 10 เท่า ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง
TNN ช่อง16
8 กรกฎาคม 2566 ( 20:20 )
159

นับเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อยสำหรับปรากฏการณ์พายุสุริยะในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์จะสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002 นักดาราศาสตร์ยังพบด้วยว่าหนึ่งในจุดดับเหล่านั้นที่มีชื่อว่า “เออาร์3354 (AR3354)” ได้ขยายใหญ่กว่าโลกถึง 10 เท่า ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโห (SOHO) ที่ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทำหน้าที่ศึกษาเกี่ยวกับพื้นผิวของดวงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 1995

โดยจุดดับนี้ปรากฏขึ้นบนพื้นผิวดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2023 ต่อมาในวันที่ 29 มิถุนายน 2023 มันได้ขยายใหญ่ขึ้นจนกินพื้นที่ประมาณ 3,500 ล้านตารางกิโลเมตร และเกิดปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์หรือการปะทุของรังสีออกมาจากจุดดับนี้

ปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ 

สำหรับปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับเอ็ม (M) ซึ่งมีพลังงานปานกลาง จึงถือว่าไม่เป็นอันตรายกับโลกมากนัก และปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์จากจุดดับนี้ก็ได้สงบลง จนกระทั่งวันที่ 2 กรกฎาคม 2023 จุดดับนี้ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ความรุนแรงของการปะทุรังสีอยู่ในระดับเอ็กซ์ (X) อันเป็นระดับสูงสุด


โดยปรากฏการณ์โซลาร์แฟลร์ระดับเอ็กซ์มีความรุนแรงมากพอที่จะทะลุสนามแม่เหล็กโลกเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลกได้ ส่งผลให้ส่วนบนของชั้นบรรยากาศโลกแตกตัวเป็นไอออนและทำให้โมเลกุลกลายเป็นพลาสมาหนาแน่น เป็นผลให้สัญญาณวิทยุกระจัดกระจาย ทำให้เกิดสัญญาณวิทยุดับในฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกาและบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกนาน 30 นาที

ในอนาคตจุดดับนี้อาจก่อให้เกิดการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์ (Corona Mass Ejection) 

นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์หลายฝ่ายยังแสดงความกังวลด้วยว่าจุดดับนี้อาจทำให้เกิดการปลดปล่อยมวลโคโรนา (Corona Mass Ejection หรือ CME) ของดวงอาทิตย์ ซึ่งมันรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดพายุแม่เหล็กโลก และจะส่งผลให้สัญญาณวิทยุในพื้นที่ครึ่งหนึ่งของโลกใช้งานไม่ได้


โชคดีที่การปลดปล่อยมวลโคโรนาจากจุดดับนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่จุดดับดังกล่าวก็ยังไม่มีท่าทีจะเล็กลงหรือหายไป อีกทั้งตอนนี้ จำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์ยังมีมากถึง 163 จุด ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2002

โดยจุดดับบนดวงอาทิตย์เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ จากการสลับขั้วแม่เหล็กเหนือและใต้ ซึ่งจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่มากที่สุด หลังจากนั้นจำนวนจุดดับจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงระดับที่น้อยที่สุด โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่าวัฏจักรสุริยะ ซึ่งจะกินเวลา 11 ปีต่อ 1 รอบวัฏจักรสุริยะ


สำหรับวัฏจักรสุริยะรอบปัจจุบันเริ่มขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2019 และจะสิ้นสุดในปี 2030 โดยนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์จะมากที่สุดในปี 2025 หลังจากนั้นมันจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งช่วงที่จำนวนจุดดับบนดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวเทียมในวงโคจรของเราอาจได้รับความเสียหายและเสียการควบคุม จนก่อให้เกิดการชนกันแบบโดมิโน่และสร้างความเสียหายในวงกว้าง และมันอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับโครงข่ายไฟฟ้าและการสื่อสารครึ่งโลก 


ข้อมูลและภาพจาก space.weather

ข่าวที่เกี่ยวข้อง