ใครได้-ใครเสีย ภาษีชิปป่วนห่วงโซ่อุปทาน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณล่าสุดว่า จะยังเดินหน้ามาตรการภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าอย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ หลังก่อนหน้านี้ประกาศยกเว้นสินค้ากลุ่มนี้จากการบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) กับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั่วโลก
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ ภายใต้มาตรการ 232 ของกฎหมายขยายการค้า (Trade Expansion Act) ปี 2505 สะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การใช้มาตรการภาษีรายประเภท เช่นเดียวกับที่ประกาศมาตรการภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25
การเดินหน้าภาษีเซมิคอนดักเตอร์ดังกล่าว ทำให้ทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภคต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนต่อไป โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการปรับห่วงโซ่อุปทานและการจัดส่ง เนื่องจากความต้องการบริโภคที่อาจผันผวนตามราคาที่เปลี่ยนแปลงเพราะภาษีศุลกากร ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่บริษัทต่าง ๆ จะรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ภายในเวลาสั้น ๆ
สิ่งเดียวที่ทำได้ในระหว่างที่ยังได้รับการยกเว้นภาษี คือ เร่งจัดส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ เหมือนที่ “แอปเปิล” ในอินเดียจัดส่ง “ไอโฟน” ไปยังสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ 600 ตัน หรือมากถึง 1.5 ล้านเครื่อง
การยกเว้นภาษีอิเล็กทรอนิกส์และชิปของสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว สะท้อนถึงความเปราะบางจากการที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีนจำนวนมาก ซึ่งหากอัตราภาษีศุลกากรขยับขึ้นแตะร้อยละ 145 ตามที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศล่าสุด ก็หมายความว่าราคาสินค้าในกลุ่มนี้จะพุ่งพรวดขึ้น และกลายเป็นภาระของชาวอเมริกัน
ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2567 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุดคือ สมาร์ตโฟน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของการนำเข้าทั้งหมด สมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ผลิตสำหรับ “แอปเปิล” ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อจีน
เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้มูลค่าตลาดของ “แอปเปิล” ลดลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากราคาหุ้นร่วงลงร้อยละ 20 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา สำหรับสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมากเป็นอันดับ 2 คือ แล็ปท็อป มีสัดส่วนร้อยละ 7 ของการนำเข้าทั้งหมด ตามด้วยอันดับ 3 แบตเตอรี่ ในสัดส่วนร้อยละ 3 ส่วนอันดับ 4 คือ ของเล่น ในสัดส่วนร้อยละ 2 เท่ากับอันดับ 5 อุปกรณ์โทรคมนาคม
ด้านข้อมูลจากสำนักงานสถิติการค้าเซมิคอนดักเตอร์โลก ระบุว่า สหรัฐฯ ถือเป็นผู้บริโภคเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของยอดจำหน่ายทั่วโลกในปี 2567 แต่สหรัฐฯ มีกำลังการผลิตเพียงประมาณ 1 ใน 10 ของกำลังการผลิตทั่วโลกเท่านั้น
“ดีลอยต์” ประเมินในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มียอดขายราว 6.27 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 19 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแตะสถิติสูงสุดที่ 6.97 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่อาจจะขยับแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 หากอัตราการเติบโตแบบทบต้น (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 7.5 ระหว่างปี 2568-2573
ทั้งนี้ เซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุปกรณ์หลากหลายประเภท ตั้งแต่เครื่องซักผ้าไปจนถึง “ไอโฟน” แม้แต่ยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องบินรบ โดยชิปขนาดเล็กถูกคิดค้นขึ้นในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบัน ชิปล้ำหน้าที่สุดถูกผลิตขึ้นในเอเชียอย่างมากมาย การผลิตชิปเหล่านี้มีราคาแพงและมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี
ระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ในเอเชียสะท้อนบทเรียนที่สำคัญ นั่นคือ ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชิปได้ด้วยตัวเองตามลำพัง และหากประเทศใดต้องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงที่ทรงประสิทธิภาพและผลิตในปริมาณมากก็จะต้องใช้เวลา
เซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นสมรภูมิสำคัญในการชิงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน สะท้อนผ่านนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ต้องการเร่งกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนให้เข้าไปตั้งฐานในสหรัฐฯ
แม้ว่าต้องใช้เวลานานหลายทศวรรษกว่าจะลงหลักปักฐานห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอื่น ๆ ซึ่งเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่จะทวงคืนความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชิปยังเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะแรงงานมีทักษะและความพร้อมในการผลิตจำนวนมาก
ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการให้บริษัทชิปลงทุนผลิตในสหรัฐฯ ไม่อย่างนั้นจะต้องเผชิญกับกำแพงภาษีที่สูงลิ่ว ร้อยละ 100 ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคม “ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง” หรือ TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวัน เพิ่งประกาศจะลงทุนในสหรัฐฯ ราว 1 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตชิปเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง
นอกเหนือจากที่ประกาศไว้เดิม 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับ “ซัมซุง” ที่เพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนภายใต้กฎหมายชิป ทั้งเงินช่วยเหลือ การลดหย่อนภาษี และมาตรการจูงใจให้ตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ
แต่ทั้ง TSMC และ “ซัมซุง” ต่างก็เผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการลงทุนในสหรัฐฯ รวมถึงต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ความยากลำบากในการสรรหาแรงงานที่มีทักษะ ความล่าช้าในการก่อสร้างเนื่องจากโรงงานที่ผลิตชิปล้วนมีสภาพแวดล้อมที่รองรับเทคโนโลยีขั้นสูง และแรงต้านจากสหภาพแรงงานในท้องถิ่น ดังนั้น แม้ TSMC จะลงทุนมากขึ้นในสหรัฐฯ แต่ฐานการผลิตสำคัญสุดยังอยู่ในไต้หวัน