รีเซต

ทำไมคนโสดถึงกลิ่นตัวไม่เหมือนคนมีคู่ นักวิจัยชี้ มนุษย์ดึงดูดคู่รักด้วยกลิ่นตัว

ทำไมคนโสดถึงกลิ่นตัวไม่เหมือนคนมีคู่ นักวิจัยชี้ มนุษย์ดึงดูดคู่รักด้วยกลิ่นตัว
TNN World
27 มิถุนายน 2564 ( 17:29 )
432
ทำไมคนโสดถึงกลิ่นตัวไม่เหมือนคนมีคู่ นักวิจัยชี้ มนุษย์ดึงดูดคู่รักด้วยกลิ่นตัว

Editor’s Pick: ‘ทำไมคนโสดถึงกลิ่นตัวไม่เหมือนคนมีคู่’? นักวิจัยชี้ มนุษย์ดึงดูดคู่รักด้วยกลิ่นตัว

 

 

มนุษย์ใช้ ‘กลิ่น’ มาแต่โบราณ


ย้อนไปสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส พระองค์ทรงหลงใหลในกลิ่นหอม, ไม้ดอกถูกประดับประดาในพระราชวังแวร์ซายทุกห้อง เฟอร์นิเจอร์และน้ำพุพรมด้วยน้ำหอม และผู้มาเยือนก็ต้องประน้ำหอมก่อนเข้าสู่พระราชวัง 

 


ไม่ว่าพระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร แค่เล่นสนุก? หรือสุขอนามัยผิดปกติ? แต่ที่แน่ ๆ พระเจ้าหลุยส์ทรงเข้าใจดีว่ากลิ่นนั้นสำคัญแค่ไหน

 


กลิ่นตัวสามารถเปิดเผยสุขภาพร่างกายของเราได้ และบ่งชี้ถึงโรคต่าง ๆ เช่น คนที่เป็นอหิวาตกโรคจะมีกลิ่นที่หวานเอียนรุนแรงคล้ายแอปเปิ้ลเน่า 

 


เมห์เม็ต มาห์มุท นักจิตวิทยาด้านการดมกลิ่นและกลิ่น จากมหาวิทยาลัยแมคควารีในออสเตรเลีย กล่าวว่า "กลิ่นยังเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาหารของเราได้อีกด้วย" 

 


ผู้ชายจะพบว่ากลิ่นตัวของผู้หญิงน่าดึงดูดใจมากที่สุด เมื่อผู้หญิงมีภาวะเจริญพันธุ์สูงสุดในช่วงตกไข่ และมีกลิ่นที่น่าพึงพอใจและน่าดึงดูดน้อยที่สุดในช่วงมีประจำเดือน, สำหรับบรรพบุรุษของมนุษย์ กลิ่นเหล่านี้เป็นเครื่องช่วยตรวจหาผู้ที่เหมาะสม และพร้อมสำหรับการสืบพันธุ์

 

 

มนุษย์แต่ละคนมี ‘กลิ่นตัว’ เฉพาะ


แม้ว่ากลิ่นจะเปลี่ยนแปลงได้จากพฤติกรรมการกินและสุขภาพของเรา แต่สิ่งที่ทำให้กลิ่นของเราไม่เหมือนใครนั้นถูกกำหนดโดยพันธุกรรม 

 


กลิ่นตัวของมนุษย์แต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และการรับรู้กลิ่นของมนุษย์แม่นยำเพียงพอจะจำแนกกลิ่นของแต่ละคนได้
แอกเนียสกา โซโรคอสกา นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการดมกลิ่นของมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยโรคลอว์ ประเทศโปแลนด์ ระบุว่า “เราตรวจพบข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้อื่นได้ด้วยการดมกลิ่น”

 


นอกจากนี้ มนุษย์ยังเลือกเครื่องสำอางที่ตรงกับความชอบด้านกลิ่น ซึ่งถูกกำหนดโดยพันธุกรรมของเราด้วย

 

 

กลุ่มโปรตีนกำหนด ‘คู่รัก’


ในการศึกษาหนึ่ง กำหนดให้ผู้หญิงได้รับเสื้อยืดที่คละผู้ชายคนที่ใส่ และขอให้พวกเธอจัดอันดับความพอใจตามใจชอบ ผลการศึกษาพบว่า ลำดับความชอบของผู้หญิงเหล่านี้เป็นไปตามรูปแบบเดียวกันกับสิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างของ HLA (Human Leukocyte Antigen)

 


HLA เป็นชื่อเรียกกลุ่มของโปรตีนที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเรารู้จัก และสามารถระบุว่า เซลล์ใดเป็นของเรา เซลล์ใดเป็นของผู้อื่น และพันธุกรรมที่เข้ารหัสสำหรับ HLA ที่เรียกว่า MHC (Major histocompatibility complex) ยังมีการเข้ารหัสโปรตีนอื่น ๆ ที่ใช้ตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของเรา

 

 
HLA มีประโยชน์สำหรับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นทางลัดดูว่า ระบบภูมิคุ้มกันของเราสามารถให้การป้องกันแบบใดได้บ้าง และการตรวจสอบ HLA ยังถูกใช้ในเทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ด้วย

 


ผู้หญิงในการศึกษาดังกล่าว เลือกเสื้อที่สวมโดยผู้ชายที่มีรูปแบบ HLA แตกต่างกันเป็นลำดับแรก และลำดับสุดท้ายคือเสื้อของคนที่มีรูปแบบ HLA คล้ายคลึงกับตน ดังนั้น พวกเธอจึงสามารถระบุผู้ชายที่เป็นคู่ที่ชื่นชอบได้ด้วยข้อมูลทางพันธุกรรมผ่านกลิ่นตัว ซึ่งเกิดขึ้นในจิตใต้สำนึก 

 

 

ยิ่งกลิ่นต่าง ลูกยิ่งแข็งแรง


โซโรคอสกา กล่าวว่า ผลการศึกษายังสรุปไม่ได้ว่า กลไกเฉพาะของ HLA ทำให้เกิดกลิ่นเฉพาะตัวของมนุษย์แต่ละคนได้ด้วยวิธีใด แต่เชื่อว่า เมื่อแบคทีเรียบนผิวหนังของเราย่อยสลาย HLA จะเกิดการผลิตสารบางอย่างที่ทำให้เกิดกลิ่นตามมา  

 


ข้อมูลการวิจัยระบุว่า มนุษย์จะมีรูปแบบ HLA คล้ายกันกับญาติที่มีสายเลือดใกล้ชิด แต่ส่วนใหญ่ HLA ของมนุษย์แต่ละคนจะแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ 

 


ผลการวิจัยยังชี้ว่า การมีลูกกับคนที่มี HLA ยิ่งต่างกันก็ยิ่งดี โดยหากมนุษย์มีคู่รักที่มีพันธุกรรม กลิ่นตัว และภูมิคุ้มกันแตกต่างกันมาก ลูกของบุคคลเหล่านั้นก็จะมีความต้านทานเชื้อโรคที่ดีขึ้น

 

 

เราใช้กลิ่นเพื่อเลือกคู่ครองจริงหรือ


นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการระบุว่า โดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายเลือกผู้ชาย เนื่องจากเพศหญิงมีปัจจัยที่ต้องคำนึงในการเลี้ยงลูกมากกว่าผู้ชาย และจะเป็นฝ่ายที่ ‘สูญเสีย’ มากกว่า หากผสมพันธุ์กับผู้ชายที่มีพันธุกรรมด้อย 

 


จึงเป็นที่มาว่าผู้หญิงต้อง ‘ฉลาดเลือก’ นี่คือเหตุผลที่ผู้ชายมักจะต้องแสดงความฉูดฉาด ร้องเล่น เต้นรำ หรือให้ของขวัญกับผู้หญิง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เพศชายต้องพิสูจน์คุณภาพพันธุกรรมของตน (บทความชี้นะครับ ไม่ได้เป็นความเห็นของผู้เขียน)
แต่คำถามมีอยู่ว่า มนุษย์ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ซ่อนอยู่ในกลิ่นตัว เพื่อเลือกคู่ครองหรือไม่? 

 


คำตอบคือ ไม่ ในการศึกษาของคู่รักที่แต่งงานกันเกือบ 3,700 คู่ พบว่า โอกาสที่ผู้คนจะตกร่องปล่องชิ้น แต่งงานกับคนที่มี HLA ไม่เหมือนกันนั้น ไม่ได้แตกต่างกับคู่รักที่มี HLA คล้ายกัน 

 

 

กลิ่นยิ่งต่าง ชีวิตรักยิ่งดี 


แม้ว่า HLA จะไม่ส่งผลต่อการเลือก แต่ก็ส่งผลต่อความสุขทางเพศ

 


เมห์เม็ต มาห์มุต กับไอโลนา ครอย จากมหาวิทยาลัยเดรสเดน ประเทศเยอรมนี ศึกษาพบว่า คู่รักที่มีความแตกต่างของ HLA สูง จะมีระดับความพึงพอใจทางเพศสูงสุด และความปรารถนาที่จะมีลูกในระดับสูงสุดด้วย

 


ความเชื่อมโยงนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นในผู้หญิง โดยผู้หญิงที่คบหากับคนที่มี HLA ที่คล้ายคลึงกัน จะมีความพึงพอใจทางเพศและความต้องการมีบุตรลดลง 

 

 

เพราะความรัก ไม่ใช่แค่ ‘กลิ่นตัว’


เมื่อเรารู้ว่า มนุษย์ส่งข้อมูลทางพันธุกรรมด้วยกลิ่นตัว และเราตรวจสอบกลิ่นเพื่อจำแนกเลือกคู่ครองได้ แต่คำถามคือ เราต้องทำถึงขนาดนั้นไหม 

 


โซโรคอสกากล่าวว่า "หากความต้องการเดียวของมนุษย์ คือการหาคู่ครองที่มีพันธุกรรมที่มีคุณภาพ ก็ควรใส่ใจกับกลิ่นเหล่านี้”
แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประเมินค่าคนอื่น หรือคู่ครองกันด้วยกลิ่นเป็นหลัก
—————
เรื่อง: นราธร เนตรากูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง