รีเซต

คนไทยโสดเพิ่ม! ผลพวงรายได้ต่ำ - เกิดเทรนด์ใหม่เน้นเปย์ตัวเอง เลี้ยงหลานแทนลูก

คนไทยโสดเพิ่ม! ผลพวงรายได้ต่ำ - เกิดเทรนด์ใหม่เน้นเปย์ตัวเอง เลี้ยงหลานแทนลูก
TNN ช่อง16
27 พฤษภาคม 2567 ( 15:31 )
42

วันนี้ (27 พ.ค. 67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีลูก โดยมีเป้าหมายไปที่คนมีคู่ เพื่อแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 66 กลับพบว่า คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็น 23.9% และหากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ จะมีสัดส่วนมากถึง 40.5% สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจากปี 60 ที่ 35.7%


สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสด แบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ


1. ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ อาทิ


- SINK (Single Income, No Kids) หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง จากข้อมูล SES ในปี 66 พบว่า สัดส่วนคนโสด SINK สูงขึ้นตามระดับรายได้


- PANK (Professional Aunt, No Kids) หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ หรืออาชีพการงานดี และไม่มีลูก ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน หรือเด็กในครอบครัวรอบตัว โดยคนโสด PANK มีจำนวน 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง


- Waithood หรือกลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรัก เนื่องจากความไม่พร้อม หรือไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสด 40% ที่มีรายได้ต่ำสุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 37.7% ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มากถึง 62.6% มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ทำให้ความสามารถในการหารายได้จำกัด


2. ปัญหาความต้องการ หรือความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคม และทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในปี 64 บริษัทมีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย พบว่า ผู้หญิงกว่า 76% จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และ 83% ไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชาย 59% จะไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกกว่า 60% ไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง


3. โอกาสในการพบปะผู้คน โดยในปี 66 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่


4. นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่อง และครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่


ทั้งนี้ สภาพัฒน์ มีแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้


- การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการ หรือพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

- การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบ และพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น

- การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และรายได้ ซึ่งคนโสดยังมีโอกาสพบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย

- การส่งเสริมกิจกรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะ และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ได้


ภาพจาก: Getty Images 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง