ผลวิจัยพบลมสุริยะ มักพัดเข้าปะทะขั้วโลกเหนือมากกว่าขั้วโลกใต้
เรารู้ว่าปรากฏการณ์แสงเหนือ (aurora borealis) และแสงใต้ (aurora australis) ที่งดงามจับตา ล้วนเกิดจากอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์หรือที่เรียกกันว่าลมสุริยะ พัดเข้าปะทะกับสนามแม่เหล็กโลกบริเวณขั้วทั้งสอง แต่ไม่มีใครทราบมาก่อนว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในอัตราที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากลมสุริยะนั้นดูจะชื่นชอบขั้วโลกเหนือเป็นพิเศษยิ่งกว่าขั้วโลกใต้
องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เผยผลวิจัยล่าสุด เรื่องที่มีการค้นพบเป็นครั้งแรกว่าอนุภาคพลังงานสูงในลมสุริยะที่พัดจากดวงอาทิตย์มายังโลก มีการกระจายตัวไปยังบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน โดยอนุภาคมีประจุไฟฟ้าในลมสุริยะส่วนใหญ่จะมุ่งหน้าไปยังขั้วโลกเหนือมากกว่า
ทีมผู้วิจัยซึ่งนำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาของแคนาดา ตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวในวารสาร Nature Communications หลังรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากฝูงดาวเทียม Swarm ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์สนามแม่เหล็กโลกมาตั้งแต่ปี 2013
- เขตสนามแม่เหล็กโลกอ่อนแรงผิดปกติกำลังขยายตัว
- ขั้วเหนือสนามแม่เหล็กโลกเคลื่อนที่จากแคนาดาไปยังไซบีเรีย
- นาซาเผย 3 สาเหตุทำให้แกนหมุนโลกเคลื่อนไปจากเดิม
ผลการศึกษาพบว่าขั้วแม่เหล็กโลกทิศใต้ (Earth's magnetic south pole) ซึ่งตั้งอยู่คนละที่กับขั้วโลกใต้ มีระยะห่างจากแกนหมุนของโลกมากกว่าขั้วแม่เหล็กโลกทิศเหนือ
สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดความแตกต่าง ในการสะท้อนคลื่นพลาสมาแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่าคลื่นอัลเฟน (Alfven wave) ซึ่งก็นำไปสู่ความแตกต่างในปฏิกิริยาตอบสนองต่อลมสุริยะ ระหว่างขั้วโลกเหนือกับขั้วโลกใต้ในที่สุด
ความไม่สมมาตรทางแม่เหล็กไฟฟ้าของขั้วโลกทั้งสอง อาจหมายถึงว่าปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นบนจะแตกต่างกันอย่างมหาศาลในสองจุดดังกล่าว และส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศบนพื้นโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ดวงอาทิตย์มีความเคลื่อนไหวหรือปลดปล่อยมวลโคโรนาออกมาอย่างรุนแรง
แต่โดยทั่วไปแล้ว ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าภาวะไม่สมมาตรทางแม่เหล็กไฟฟ้านี้จะส่งผลกระทบอะไรได้อีกบ้าง จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมและเก็บข้อมูลด้วยฝูงดาวเทียมสังเกตการณ์กันต่อไป