4 รู้! ก่อนตัดสินใจให้ลูกฉีดวัคซีนโควิด
เมื่อลูกต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มวันที่ 4 ตุลาคมที่จะถึงนี้ คนเป็นพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ที่มีลูกอายุระหว่าง 12-17 ปี ต้องเกิดคำถามว่าเด็กควรฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่? TrueID รวบรวมข้อมูลดี ๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองได้ศึกษา ทั้งข้อควรระวัง ข้อปฏิบัติ สิ่งที่ต้องคำนึงในการให้ลูกรับวัคซีนโควิด กับ 4 รู้ ก่อนตัดสินใจสมัครใจยินยอมให้ลูกฉีดวัคซีนโควิด
อย่าลืมว่า "เด็ก" คือวัยที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดและให้ความสำคัญไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม และที่สำคัญห้ามลืมคือ "พ่อแม่หรือผู้ปกครองมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ให้เด็กรับวัคซีนได้ โดยไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน” อย่ากลัว อย่ากังวล เอาล่ะมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลยดีกว่า
4 รู้! ก่อนตัดสินใจให้ลูกฉีดวัคซีนโควิด
สำหรับ 4 ข้อรู้สำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจ โดยจะขอหยิบยกประเด็นสำคัญ ๆ ได้แก่
1. วัคซีนโควิด-19 กับเด็ก สำคัญอย่างไร?
2. อาการความรุนแรง ผลข้างเคียง อัตราการตาย
3. ภาวะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนไฟเซอร์
4. เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนหรือไม่?
ดังนั้น มาเริ่มกันที่หัวข้อแรกกันเลยคือสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครองที่มีลูก หรือเด็กอายุ 12-17 ปี ต้องทำความเข้าใจกันก่อน
1. วัคซีนโควิด-19 กับเด็ก สำคัญอย่างไร?
การสร้างเกราะป้องกันจากโรคภัยต่าง ๆ รวมถึงวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากโรคระบาดอย่างโควิดที่นับวันจะร้ายแรงจากการกลายพันธุ์สู่สายพันธุ์ใหม่ ๆ อาทิ สายพันธุ์เดลต้า, สายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์โควิดล่าสุดอย่าง สายพันธุ์มิว ที่หลบหลีกวัคซีนได้เก่ง ให้กับลูกหรือเด็ก ๆ ในการดูแลด้วยการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
เพราะวัคซีนจะทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน หรือภูมิคุ้มกันต่อร่างกาย ปกป้องเด็ก ๆ จากการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรือลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เล็ก เราทุกคนล้วนต้องรับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดด้วยซ้ำ ขณะที่ การเริ่มให้เด็กเล็กอายุ 12 ปีขึ้นไปรับวัคซีนโควิด-19 เฉพาะชนิด mRNA ได้แก่ วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งวัคซีน 2 ยี่ห้อนี้ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ใช้มาราว 1 ปีแล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ยังไม่มีผลการติดตามในระยาว รวมทั้งการเข้าสู่การผลิตวัคซีนเด็ก
ตรงนี้หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองคนใดประสงค์ให้เด็กในความดูแลรับวัคซีนชนิดนี้สามารถเข้ารับการฉีดได้ในช่วงเดือนตุลาคม
ส่วนวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยสำหรับใช้ในเด็กนั้น ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นชนิดเชื้อตาย แต่ก็มีบางประเทศที่ประกาศใช้วัคซีนซิโนแวคให้กับเด็ก เช่น ประเทศจีน ที่มีการฉีดในเด็กไปแล้วกว่า 90 ล้านโดส และประเทศแรกของโลก อย่างประเทศคิวบา ได้มีการประกาศฉีดวัคซีนโควิดให้เด็กอายุ 2 ขวบแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ผลิตเอง
2. ติดเชื้อ อาการความรุนแรง อัตราการตาย
ในข้อนี้มีข้อมูลตัวเลขที่ต้องยอมรับว่าอัตราการติดเชื้อในเด็กนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยข้อมูลจากนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุถึงอัตราการติดเชื้อเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 -18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม จำนวน 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น
ผนวกกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิดในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และยังไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่
โรคอ้วน
โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคไตวายเรื้อรัง
โรคหลอดเลือดสมอง
โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
โรคเบาหวาน
กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
และสิ่งที่ต้องยอมรับเพิ่มขึ้นนั่นคือ เด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากคนในครอบครัวมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการในการป้องกันตั้งแต่ใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือให้บ่อย การเว้นระยะห่าง การไม่ใช้ภาชนะร่วมกันยังปฏิบัติละหลวม หรือหลงลืม ดังนั้น ก่อนกลับถึงบ้านพ่อแม่ต้องป้องกันก่อนส่งเชื้อถึงลูกด้วยการปฏิบัติตามวิธีในการป้องกันอย่างเคร่งครัด
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องอ่านเอกสารที่แสดงความประสงค์ของผู้ปกครองเพื่อให้นักเรียน/นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือเทียบเท่าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงนามยิมยอมหรือไม่ นั่นคือข้อมูลที่ระบุว่า โรคโควิด-19 การติดเชื้อในเด็กสามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต
3. ภาวะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนไฟเซอร์
สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA นั้น มีข้อมูลรายงานอุบัติการณ์การเกิดประมาณ 16 ราย ใน 1 ล้านโดสของการฉีดว่า
ส่วนใหญ่พบในเพศชาย ทั้งนี้ อายุ 12-17 ปี จะมีอัตราการเกิดสูงสุด รองลงมาช่วงอายุ 18-24 ปี และผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด
อาการจะพบได้ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีนแล้ว แต่ส่วนใหญ่พบภายในที่ 7 วัน
พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 เพศชายที่อายุ 12-17 ปี จะมีอัตราการเกิดสูงสุด
และข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ได้รายงานว่า ประเทศไทยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สะสม 869,811 โดส มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรคจาก 90 ราย คิดเป็น 10.35 ต่อแสนโดส เกี่ยวข้องกับวัคซีน และกรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส หายเป็นปกติ เป็นเด็กชายอายุ 13 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน
ดังนั้น หากเด็กมีประวัติโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA จะดีที่สุด รวมทั้งหากเด็กที่ได้รับวัคซีนแล้วมีอาการภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ใจสั่น เป็นต้น
4. เด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนหรือไม่?
ปิดท้าย เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ได้ออกมาแนะนำการฉ๊ดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ว่าแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปี จนถึงน้อยกว่า 18 ปีทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปรกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโควิดที่รุนแรง เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเดิบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคชีนป้องกันโรคโควิด-19 มากเพียงพอ สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้อรัง ตามข้อมูลในข้อที่ 2
และนี่คือ 4 รู้ที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจสมัครใจยินยอมให้บุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด อีกทั้ง หากตัดสินใจให้เด็กฉีดวัคซีนอย่าลืมปฏิบัติตามคำแนะนำ สังเกตอาการ และคุมเข้มมาตราการการป้องกันอย่างเคร่งครัดป้องกันโควิดด้วยนะ
ข้อมูล : กรมอนามัย, กรมควบคุมโรค
ข่าวเกี่ยวข้อง :
เด็กติดโควิด-19 เข้ารับการรักษาได้ที่นี่ เช็กเลย!
เด็กเล็กต้องเตรียมฉีดวัคซีนอะไรบ้าง ระหว่างรอวัคซีนโควิดสิ้นปีนี้
'เด็กในบ้านติดเชื้อโควิด-19' ติดต่อช่องทางนี้!