รีเซต

STECดีลธุรกิจใหม่ต่อ จี้รัฐช่วยต้นทุน-ค่าแรง

STECดีลธุรกิจใหม่ต่อ  จี้รัฐช่วยต้นทุน-ค่าแรง
ทันหุ้น
16 กรกฎาคม 2566 ( 19:35 )
91
STECดีลธุรกิจใหม่ต่อ  จี้รัฐช่วยต้นทุน-ค่าแรง

STEC เตรียมหารือสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย หาแนวทางคุมต้นทุนวัสดุก่อสร้าง-ค่าแรงที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่น้ำมันดีเซลจะปรับขึ้น 5 บาท เบื้องต้นแก้เกมคุมต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยอมรับโครงการส่วนใหญ่แม้ประมูลทันปีนี้ แต่จะรับรู้ปีหน้า ย้ำรายได้ 3 หมื่นล้านบาทตามเป้า มูลค่าการเข้าประมูลงานยังอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท เจรจาลงทุนธุรกิจใหม่ 2-3 ดีล หลังปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้ง

 

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันสุดท้ายของการใช้มาตรการยกเลิกภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จำนวน 5 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคามันมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 5 บาท รับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง

 

ซึ่งจะทำให้ต้นทุนวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นจึงเตรียมที่จะหารือกับ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้าง อาทิ การปรับสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) (ESCALATION CONTRACT) ที่จากเดิมหากราคามากกว่า 4% ขึ้นไป โดยนำเฉพาะส่วนที่เกิน 4% มาคำนวณปรับเพิ่ม หรือลดค่างานแล้วแต่กรณี (โดยไม่คิด 4% แรกให้) อาจจะปรับให้เริ่มคิดจาก 0% ด้วย เป็นเพียงแนวหนึ่ง แต่ทั้งนี้อาจจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง

 

*ต้นทุนขึ้นกระทบ

รวมไปถึงต้นทุนค่าแรงที่จะปรับขึ้นจะเป็นปัจจัยกระทบต่อต้นทุนอุตสาหกรรมก่อสร้างเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ปัจจุบัน STEC มีแรงงานที่เป็นชาวเมียนมาประมาณ 20% และอีกกว่า 70% เป็นแรงงานไทย อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาที่ต้นทุนต่างๆ ล้วนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น บริษัทจึงได้มีการเน้นเรื่องของการบริหารจัดการภายใน การลดต้นทุน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การนำเครื่องจักรเข้ามาช่วย จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาผลกระทบจากต้นทุน และหวังให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลด้วย

 

ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการบริษัทคาดว่ารายได้ปี 2566 จะทำได้ลดลงจากเป้าหมายเล็กน้อย ราว 30,000 ล้านบาท เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 32,000-33,000ล้านบาท  จากเรื่องของงานใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอาจจะล่าช้าจากการประมูลงาน แม้ว่าปีนี้อาจจะเห็นการเปิดประมูลงานทัน แต่การรับรู้รายได้คาดว่าจะเป็นช่วงปีหน้าแทน ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) 100,000 ล้านบาท ต้องติดตามสถานการณ์ของงานโครงการอู่ตะเภา ส่วนการประมูลงานโครงการยังเป็นไปตามแผน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง, โครงการรถไฟทางคู่ "ขอนแก่น-หนองคาย", โครงการมอเตอร์เวย์ เส้นทางเข้าอู่ตะเภา มูลค่ารวมประมาณ 2 แสนล้านบาท

 

*เพิ่มรายได้ประจำเข้าพอร์ต

พร้อมกันนี้บริษัทยังได้ปรับโครงสร้างบริษัทเป็นบริษัท โฮลดิ้ง (Holding Company) ที่จะสามรถเข้าลงทุนธุรกิจอื่นๆ ได้ ตามกลยุทธ์ในการผลักดันรายได้ประจำหรือ Recurring Income ทั้งนี้ปัจจุบันมีการเจรจาธุรกิจใหม่อยู่ 2-3 ดีล คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยเข้ามาผลักดันรายได้ให้เพิ่มขึ้น

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึง STEC ว่า ที่ประชุมบอร์ด STEC มีมติให้ลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น  จำกัด (ดำเนินธุรกิจพัฒนาและดำเนินงานโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยร่วมทุนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECO) ตามสัดส่วนการถือหุ้น 20% โดยจะลงทุนเพิ่มเติมอีก 1.2 พันล้านบาท จากเดิมที่ได้อนุมัติลงทุนไปแล้ว 6.0 พันล้านบาท เงินลงทุนมาจาก เงินทุนหมุนเวียนในบริษัทและเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่บริษัทถือครองอยู่

 

ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในระยะยาว คือ ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผล ส่วนระยะสั้นหุ้นรับเหมายังมีปัจจัยการเมืองที่ไม่แน่นอนกดดัน โดยหากการจัดตั้งรัฐบาล การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใช้เวลานาน ก็จะทำให้การเปิดประมูลงานและการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ จะล่าช้าออกไป และนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงงานเป็น 450 บาทต่อวัน (จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 340 บาท/ต่อวัน) รวมถึงการปรับขึ้นอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลบริษัทขนาดใหญ่ ฯลฯ ก็ยังเป็นลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง