รีเซต

ชำแหละ"กู้เงิน1ล้านล้าน" ใครได้ประโยชน์

ชำแหละ"กู้เงิน1ล้านล้าน" ใครได้ประโยชน์
TNN ช่อง16
2 มิถุนายน 2563 ( 09:57 )
1.6K

 

" BUSINESS WATCH"  พามาเจาะลึกรายละเอียดพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  วันนี้เราจะมาดูเรื่องของการกู้เงินเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตโควิด -19 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการวิพากย์วิจารย์กันว่ามีความจำเป็นต้องกู้เงิน โดยการออกพ.ร.ก. 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท หรือไม่และจะสร้างหนี้ให้ประชาชนคนไทยไปอีกนานแค่ไหน การใช้เงินจะตรงกลุ่มเป้าหมายหรือจะมีการรั่วไหลหรือไม่  

 

ซึ่งล่าสุดร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ เพื่อเยียวยาและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็เข้าสู่การอภิปรายในสภาและก็มีมติผ่านฉลุยไปแล้ว ขณะที่สังคมยังคงต้องติดตามตรวจสอบการใช้เงินมหาศาลนี้กันต่อไป เพราะล่สุดรัฐบาลยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้หรือไม่

     

อย่างไรก็ตามการออกพ.ร.ก.ครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิดไปทั่วโลกและยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน  อีกทั้งยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดได้โดยรัฐบาลยอมรับว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ที่ต้องมีการปิดสถานประกอบการ สนามบิน ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว มีผลต่อการจ้างงาน ที่สำคัญรัฐบาลประเมินว่าการระบาดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 ทำให้รายได้ประเทศลดลง 928,000 ล้านบาท อาจมีคนว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นล้านคน จีดีพีไทยจะติดลบ 5.0-6.0 แม้รัฐบาลจะพยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่

 

ทั้งการจัดสรรงบรายจ่ายปี 2563 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 แต่แหล่งเงินดังกล่าวไม่เพียงพอในการสร้างความเชื่อมั่นประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องหยุดยั้งการแพร่ระบาดโรค และฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ การดำเนินการดังกล่าวและต้องใช้เงินเร่งด่วนประมาณ 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่อาจดำเนินการโดยงบประมาณปกติได้ 

 

สำหรับ  พ.ร.ก.เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19  ทั้ง3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วย

1. พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

2. พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท

3. พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท

 

แต่ที่ถูกจับตากันมากคือการกู้เงินโดยรัฐบาล 1 ล้านล้านบาทซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2563   ส่วนอีก 2 ฉบับเป็นอำนาจการบริหารจัดการของแบงก์ชาติ  หรือเป็นการใช้สภาพคล่องของแบงก์ชาติเองซึ่งไม่ใช่เป็นการกู้เงินเพราะแบงก์ชาติมีอำนาจในการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบอยู่แล้ว 

 

อย่างไรก็ตามนักวิชาการและภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาจะทุ่มเงินจำนวนนี้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น บางคนเห็นว่าหากจำเป็นต้องฟื้ฟนูเศรษฐกิจสามารถกู้ได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำเพราะตามกรอบกฎหมายและวินัยการคลังยังมีช่องให้รัฐบาลกู้เงินได้เพิ่ม

 

ขณะที่รัฐบาลเองก็ยืนยันว่าตระหนักถึงข้อห่วงใยต่อประเด็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่าและความโปร่งใสการใช้จ่ายเงินกู้ จึงกำหนดการใช้จ่ายใน 3 แผนงานหลัก ได้แก่ 1.โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท 2.โครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ชดเชยให้ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 555,000 ล้านบาท 3.โครงการพื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 400,000  ล้านบาท  โดยเฉพาะ 4 แสนล้านบาทนี้เองที่ถูกอภิปรายมากว่ายังไม่มีรายละเอียดของโครงการและอาจมีช่องโหว่ในการใช้เงินเพราะเป็นเงินนอกงบประมาอาจตรวจสอบยาก

 

ทำให้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ โดยกำหนดให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการกู้เงินเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวจะครอบคลุมถึงรายละเอียดการกู้เงิน วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์ประโยชน์ที่ได้รับ

 

ส่วนความคืบหน้าการขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทนั้นอยู่รหว่างให้หน่วยงานต่างๆเสนอโครงการใช้เงินเข้ามาเพื่อให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาภายในวันที่ 2 กรกฎาคม และนำเสนอ ครม. วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันที ทำให้จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563

         

สำหรับการนำเสนอโครงการจะพิจารณาจาก 4 แนวทาง คือ  แนวทางที่ 1 การลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น เน้นการท่องเที่ยวคุณภาพ เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน  

 

แนวทางที่ 2 แผนงานเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เช่น เน้นเกษตรผสมผสาน การพัฒนาสินค้าชุมชน การจ้างงานในชุมชน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าแนวทางนี้จะใช้งบประมาณประมาณ 50% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาทจากงบประมาณทั้งหมด

 

แนวทางที่ 3 คือ การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศภาคครัวเรือนและเอกชน เช่น คูปอง ท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งแนวทางที่ 3 จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วที่สุด

 

แนวทางที่ 4 คือ การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต

โดยแต่ละโครงการจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 พร้อมยืนยันไม่มีการจัดสรรโควตาสัดส่วนงบประมาณให้แต่ละกระทรวง โดยจะเน้นจัดสรรงบให้โครงการที่เสนอมาตามแนวทางดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้งบทั้งหมด 400,000 ล้านบาท ส่วนกระบวนการเบิกจ่ายเงินแต่ละโครงการจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงคลังอีกครั้ง เพื่อลดขั้นตอนการเบิกจ่าย หรือฟาสแทรค พร้อมย้ำทุกโครงการจะทำอย่างโปร่งใสสามารถตรวจสอบรายละเอียดการเบิกจ่ายได้

 

การกู้เงินก็หมายถึงการเพิ่มหนี้ให้ประเทศ และคงปฎิเสธไม่ได้ว่าการกู้เงินครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะหนี้ของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงต่อสภาว่าจะบริหารหนี้สาธารณะของรัฐบาลทั้งเงินกู้ 1 ล้านล้านและเงินกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณจะไม่กระทบต่อกรอบบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ  แต่การกู้เงินครั้งนี้ก็ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยประมาณการณ์ว่าสิ้นเดือนกันยายน 2564 จะมีสัดส่วนหนี้ถึง 59.96%  ของจีดีพี ใกล้ชนเพดานกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจดีพี

 

เมื่อเทียบกับสถานะหนี้สาธารณะคงค้างล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ของประเทศไทย มีจํานวนทั้งสิ้น  7,018,731  ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 41.28% ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,807,898  ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 887,573  ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทําธุรกิจในภาคการเงิน(รัฐบาลค้ำประกัน) 315,231  ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 8,028  ล้านบาท ก็ถือว่าในปี2564 หนี้จะเพิ่มขึ้นไปมากพอสมควร 

 

กระทรวงการคลังมองว่าการกำหนดเพดานไว้ที่ระดับ 60%  เป็นระดับหนี้ที่เหมาะสมในสภาวการณ์เศรษฐกิจที่ปกติ แต่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ หากมีความจำเป็นต้องมีเงินเพื่อดูแลประชาชนและเศรษฐกิจเพื่อให้เดินต่อไปได้ และสามารถกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และอาจทำให้หนี้สาธารณะเกินระดับ 60% ไปบ้างโดยขอขยายเป็นการชัวคราว  เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโต สัดส่วนดังกล่าวก็จะกลับมาอยู่ในภาวะปกติได้หากเทียบกับสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่หนี้สาธารณะสูงที่สุด คือ 59.9% และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นประกอบกับการมีวินัยในเรื่องหนี้ที่ดี ทำให้ในปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับเพียง 41.4% ของจีดีพี

 

อย่างที่ทราบกันครั้งนี้ไม่ใช้ครั้งแรกของรัฐบาลในการออกพ.ร.ก.กู้เงิน แม้ว่าครั้งนี้จะมากที่สุดหากคิดที่วงเงิน1.9 ล้านล้านบาทก็จะอยู่ที่ 10% ของ GDP  นับว่าเป็นวงเงินที่ใหญ่กว่าวิกฤตในอดีตเพราะรวมการใช้สภาพคล่องของธปท.เข้ามาด้วย โดยก่อนหน้านี้รัฐฐาลเคยมีการออกพ.ร.ก.กู้เงินหลายครั้งประกอบด้วย ครั้งแรกช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2541 รัฐบาลกู้เงินกว่า 1 ล้านล้านบาทภายใต้ 3 พ.ร.ก. คือ พ.ร.ก. กู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน 3 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯ 2 ฉบับ วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ 7.8 แสนล้านบาท 

 

จากนั้นครั้งที่2  ช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2552 ภาครัฐออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจ (ไทยเข้มแข็ง) 4 แสนล้านบาท และ ช่วงที่ 3 หลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ภาครัฐได้ออก พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก. soft loan ของแบงก์ชาติอีก 3 แสนล้านบาท 

 

การกู้เงินขนาด 10%  ของจีดีพีถือว่ามากหรือไม่ ลองมาเทียบกับประเทศอื่นๆที่ใช้มาตรการการคลังหรือการใช้เงินแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตโควิดที่ส่งผลกระทบเร็ว แรง และลึกกว่าวิกฤตที่เคยเจอมา จะเห็นว่าหลายประเทศใช้เงินมกากว่า 10%ของ GDP และใหญ่กว่าที่เคยใช้ในวิกฤตครั้งก่อนๆ  เช่น อังกฤษใช้เงินไป 18%  ฝรั่งเศสใช้เงิน(15%  เยอรมัน  14%  อิตาลี 13% สหรัฐฯและ ญี่ปุ่นประมาณ 11%  ซึ่งยังไม่รวมวงเงินมาตรการการเงินอื่นๆ ที่ค่อนข้างสูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ใหญ่กว่าไทยอย่างมากดังนั้นทำให้การกู้เงินครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างมากกว่าการใช้เงินจะมีประสิทธิภาพหรือไม่  หรือเป็นการกู้เงินมาละลายแม่น้ำเหมือนในอดีต......

 

ส่วนแนวทางการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทจะมาจากแหล่งใด .....เรื่องนี้กระทรวงการคลังได้กำหนดแนวทางการกู้เงินเบื้องต้นจะเน้นพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศเป็นหลัก ขณะเดียวกันจะพิจารณาเงื่อนไขและต้นทุนการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศอีกทางเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำรอง หากสภาพคล่องในประเทศไม่เพียงพอ  เพื่อดูแลไม่ให้เป็นการไปแย่งเงินทุนกับภาคเอกชนที่จำเป็นต้องระดมเงินจากตลาดการเงินในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

หลายคนอาจจะสงสัยว่ารัฐบาลจะกู้เงินจากที่ไหน มาดูเครื่องมือในการกู้เงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีทั้งเครื่องมือระยะยาว เช่น การขายพันธบัตร ตั้งแต่อายุ 5-50 ปีให้นักลงทุนประเภทสถาบัน  การขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชน  และการกู้จากองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ  ส่วนเครื่องมือระยะสั้นสามารถทำได้ทั้งการออกตั๋วเงินคลัง การกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในรูป PN หรือ Term loan  โดยตัวเลขล่าสุดกระทรวงการคลังบอกว่าได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 170,000 ล้านบาท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงิน 1.2 แสนล้านบาท และ พันธบัตรออมทรัพย์ที่ขายให้ประชาชน 5 หมื่นล้านบาท 

 

ขณะที่การชำระหนี้นั้น กระทรวงการคลังจะต้องวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อกระจายความเสี่ยง และดูแลต้นทุนการกู้เงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะการกู้เงินจำนวนมหาศาลนี้ คนที่ต้องร่วมกันชดใช้คือประชาชนทั้งประเทศ ลูกหลานเป็นลูกหนี้ จึงต้องนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ขณะที่หนี้สาธารณะในปัจจุบันที่มีอยู่นั้น  อายุเฉลี่ยของหนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ปีกว่าๆ โดยหนี้ที่อายุยาวสุดคืออายุ 50 ปี  ในการชำระหนี้รัฐบาลก็จะตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไว้ในงบประมาณทุกปี  ซึ่งแต่ละปีจะต้องจัดสรรงบประมาณไม่ต่ำกว่า 3% ของวงเงินไว้เพื่อชำระหนี้เงินต้น  ไม่เช่นนั้นหนี้ก็จะไม่ลดลง  ซึ่งก็ถือว่าสัดส่วนยังน้อยทำให้หนี้ที่เคยกู้เมื่อคราววิกฤตต้มยำกุ้งหรือ 20 ปี ก่อนปัจจุบันจะยังเคลียร์หนี้ก้อนนี้ไม่หมด แต่ก็ทยอยจ่ายคืนจนหนี้ลดลงไปมากแล้ว

 

ส่วนก้อนใหม่อีก 1 ล้นล้านบาทประเทศไทยจะชำระหนี้ก้อนนี้หมดเมื่อไหร่ คงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แม้แต่กระทรวงการคลังยังไม่สามารถตอบเป็นจำนวนปีที่ชัดเจนได้  แต่ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นประเทศไทยจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น และได้รับการจัดสรรงบชำระหนี้อย่างเหมาะสมก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ชำระหนี้ก้อนนี้ให้หมดได้เร็วขึ้น แต่เท่าที่ประเมินไม่น่าจะเร็วกว่า 20 ปี ซึ่งมีส.ส.บางคนบอกว่าการกู้เงินครั้งนี้ทำให้คนไทยเป็นนี้เพิ่มอีกคนละ 1.5 หมี่นบาทก็ไม่รู้คำนวณจากอะไรเอาจำนวนหนี้มาหารเฉลี่ยจำนวนประชากรหรือไม่  

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง