รีเซต

ยุโรปเตรียมออกกฎให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน ต้องมีอะไหล่สำรองอย่างน้อย 5 ปี

ยุโรปเตรียมออกกฎให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน ต้องมีอะไหล่สำรองอย่างน้อย 5 ปี
TNN ช่อง16
3 กันยายน 2565 ( 20:01 )
69
ยุโรปเตรียมออกกฎให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟน ต้องมีอะไหล่สำรองอย่างน้อย 5 ปี

นอกเหนือจากการออกข้อบังคับให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่วางจำหน่ายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ต้องใช้พอร์ต USB-C เป็นพอร์ตมาตรฐานในการเชื่อมต่อ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เตรียมร่างข้อบังคับใหม่ขึ้นอีกครั้ง ว่าด้วยเรื่องการสนับสนุนอะไหล่ให้แก่ผู้บริโภคนานอย่างน้อย 5 ปี


ที่มาของภาพ Unsplash

 


เชื่อว่าผู้อ่านบางท่านอาจเคยรู้สึกว่าบางครั้งผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอาจบีบบังคับให้ผู้ใช้ต้องซื้อเครื่องใหม่ โดยเฉพาะหลังจากที่ซื้อมาได้เพียง 1-2 ปีแล้วเครื่องมีปัญหาแต่ไม่สามารถหาอะไหล่มาเปลี่ยนได้ ผู้ผลิตอาจเสนอให้คุณจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อเครื่องใหม่ แน่นอนว่าสมาร์ตโฟนที่เสียหายและไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยนแล้ว ก็จะกลายมาเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเวลาต่อมา


นี่จึงเป็นที่มาของการร่างข้อบังคับใหม่โดยคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งรายละเอียดกล่าวว่า ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนจะต้องมีอะไหล่เตรียมไว้สำหรับการซ่อมแซม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการหรือร้านซ่อมที่ได้รับการรับรองจากทางผู้ผลิต โดยต้องมีอะไหล่ของสมาร์ตโฟนรุ่นนั้น ๆ อย่างน้อย 15 ประเภท และต้องมีสำรองไว้เพื่อให้บริการซ่อมแซมเป็นเวลา 5 ปี หลังสมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าววางจำหน่าย


ที่มาของภาพ PxHere

 


ตัวอย่างของชิ้นส่วนอะไหล่ที่ต้องมีสำรองไว้ เช่น แบตเตอรี่, กล้องหน้าและหลัง, ไมโครโฟน, ลำโพง, ถาดใส่ซิม และอื่น ๆ ให้ได้รวมกันอย่างน้อย 15 ประเภท ครอบคลุมการซ่อมแซมทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ 


คณะกรรมาธิการเผยว่า ข้อบังคับนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตได้นานอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป ช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเพิ่มขึ้นได้ เทียบเท่ากับการกำจัดรถยนต์ออกจากถนนได้มากถึง 5 ล้านคัน (ในช่วงเวลา 5 ปี) 


อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถสำรองอะไหล่บางชิ้นไว้ได้ในระยะเวลา 5 ปี ยกตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ ผู้ผลิตมีทางเลือกอีกทาง คือ แบตเตอรี่ที่มาพร้อมสมาร์ตโฟนเครื่องดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบความจุ โดยจะต้องมีความจุแบตเตอรี่อย่างน้อย 80% เมื่อผ่านรอบการชาร์จเต็มครั้งที่ 1,000 รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในสมาร์ตโฟนจะต้องส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งานของแบตเตอรี่น้อยที่สุด


ที่มาของภาพ Unsplash

 


ทั้งนี้ คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่าร่างข้อบังคับนี้จะผ่านการรับรองจากสภายุโรปหรือไม่ ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นคงต้องมีหลักฐานอื่นช่วยสนับสนุนว่าการผลิตอะไหล่สำรองไว้ จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้จริง และมีประโยชน์แก่ผู้ใช้งานในสหภาพยุโรปด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Ars Technica

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง