รีเซต

ดาบสองคม? เมื่อ"ผู้สูงอายุ"เล่นโซเชียลฯ เรื่องใกล้ตัวลูกหลานต้องใส่ใจ

ดาบสองคม? เมื่อ"ผู้สูงอายุ"เล่นโซเชียลฯ เรื่องใกล้ตัวลูกหลานต้องใส่ใจ
TNN ช่อง16
18 กันยายน 2566 ( 20:04 )
177
ดาบสองคม? เมื่อ"ผู้สูงอายุ"เล่นโซเชียลฯ เรื่องใกล้ตัวลูกหลานต้องใส่ใจ

ดาบสองคม? เมื่อ "ผู้สูงอายุ" เล่นโซเชียลมีเดีย เปิดใจคุณยายวัย 70 ปี ชอบเล่น-ดูอะไร? เรื่องใกล้ตัวลูกหลานต้องใส่ใจ

ต้องยอมรับว่า โซเชียลมีเดีย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็ว ติดตามข่าวสารได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์ชีวิตยุคปัจจุบันได้ ทั้งยังสิ่งที่รวบรวมความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ


แต่ทว่าสื่อสังคมออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดียผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเสพติดได้ (Social Addiction) ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ และยังเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า เครียด สมาธิสั้น และไบโพลาร์ได้


วันนี้ TNN Online ได้พูดคุยกับผู้สูงอายุรายหนึ่ง คือ คุณยายเข็มทอง อายุ 70 ปี ชาวจังหวัดชัยนาท เป็นเจ้าหน้าที่ อาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย จากที่เมื่อก่อนไม่รู้จักและไม่เคยใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน


ภาพจาก TNN Online

 

 


รู้จักโซเชียลได้อย่างไร


เห็นลูกหลานเล่น จับโทรศัพท์กันทั้งวันเลยไปนั่งดู ก็เห็นว่ามีรูป มีคลิปต่างๆมากมายน่าสนใจ จากนั้นเริ่มไปหาซื้อมือถือสมาร์ทโฟนราคาจับต้องได้ เล่นอินเทอร์เน็ตได้ พอได้มาก็ให้ลูกหลานสอนเล่น ซึ่งแรกๆก็งงๆเพราะเราแก่แล้ว ความจำไม่ค่อยจะดี (อมยิ้ม) จากนั้นก็ค่อยๆเล่นได้ สงสัยตรงไหนก็ถามหลาน ปัจจุบันนี้เล่นเป็นทุกอย่างแล้ว


เล่นอะไรบ้าง เล่นอะไรเป็นหลัก


คุณยายเข็มบอกว่า ชอบเล่น ติ๊กต็อก(TikTok) มาก เพราะมีทั้งคลิปสั้น หนังสั้น ลิเก คลิปตลก เพลง และ มีข่าวสารให้ดู ทำให้เพลินเพลินสามารถเล่นได้ทั้งวัน (หัวเราะ) นอกจากจะเล่น ติ๊กต็อก แล้วยังชอบดู Youtube รายการธรรมะ สารคดีสัตว์โลก ฟังเพลง อีกหนึ่งอย่างใช้เป็นประจำก็คือ แอปพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ไว้คุยกับลูกหลานสามารถโทรคุยกันแบบเห็นหน้า เพราะลูกหลานไปทำงานต่างถิ่นนานๆจะกลับมาที


ประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย


คุณยายเข็มบอกว่า สำหรับตัวยายเอง ช่วยให้ยายผ่อนคลาย ไม่เครียด มีความรู้ ได้พัฒนาสมอง ได้รู้ได้เห็นว่าโลกข้างนอกว่าเป็นอย่างไร เพราะที่บ้านอยู่กับตา 2 คน การมีโซเชียลก็ช่วยให้คลายเหงาไปได้ ทำให้เปิดโลกกว้าง และยังช่วยสื่อสารกับลูกหลานได้ง่าย บางทียายก็ทำอาหารเสร็จก็ส่งรูปไปให้ลูกๆหลานๆดูผ่านไลน์ จากที่เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้


อีกอย่างตัวเองเป็น อาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดี๋ยวนี้การทำงานต่างๆ หรือ ส่งงานก็ทำผ่านโซเชียล (ไลน์) จากที่เมื่อก่อนจะคุยกันทีก็ต้องโทร หรือ ต้องเดินทางไปหา การมีโซเชียลทำให้อะไรๆง่ายขึ้น พิมพ์หากันผ่านมือถือได้ตลอดเวลา


ภาพจาก TNN Online

 

 


รู้ไหมว่า ตอนนี้มิจฉาชีพระบาด


คุณยายเข็มบอกว่า รู้ นอกจากจะฟังจากทีวีแล้ว ก็รู้จากการเล่นโซเชียลนี่แหละ ดูจากเพจสื่อต่างๆที่น่าเชื่อถือ ว่า ตอนนี้มีการหลอกประชาชนอย่างไร ทำให้ระวังตัว ปัจจุบันยังมีเบอร์แปลกๆโทรมาอยู่เรื่อยๆ ให้กด 1 กด 9 ต่างๆนาๆ ซึ่งจากการดูข่าวสารทำให้เรารู้ทันพวกนี้ แล้วรีบกดวางทันทีเพราะกลัวเงินหมดบัญชี (อมยิ้ม) นอกจากจะดูข่าวแล้วก็มีลูกหลานคอยบอกคอยเตือนให้ระวัง ยายก็ระวัง



สูงวัยกับโซเชียล น่าเป็นห่วง/อันตราย ต้องคอยดู!


ที่น่าเป็นห่วงเพราะโลกโซเชียลไปเร็วกว่าที่คิด คนสูงวัยอาจไม่ระวัง เรื่องการโพสต์ แชร์ ข้อมูลส่วนบุคคล ลูกหลานต้องคอยบอกคอยเตือน เพราะบางทีเราไม่ได้มานั่งดูเขาเล่นตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันเห็นได้ชัดคือการส่งต่อคลิปทางไลน์ เป็นข่าวปลอม ข้อมูลปลอม เป็นคลิปที่ส่งต่อๆกันมา ไม่มีแหล่งที่มา และส่วนมากผู้สูงอายุก็หลงเชื่อและฟัง และนำข้อมูลนั้นมานั่งเล่าต่อๆกัน


นอกจากนี้ควรระวังเรื่องการ โฆษณาชวนเชื่อ เช่น การขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาที่อวดอ้าง ที่มีสรรพคุณเกินจริง ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อได้ ยิ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีภูมิต้านทานด้านสื่อแล้วมีโอกาสจะถูกหลอกลวงได้ง่ายขึ้น


อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระวังนั่นก็คือ แก๊งมิจฉาชีพ เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพไม่ได้แค่โทรเท่านั้น ยังมีการส่งเป็นข้อความแนบลิงค์มาทางโทรศัพท์ อาจทำให้ผู้สูงอายุไม่ทันระวัง เผลอกดเข้าไปก็อาจจะทำให้เสียทรัพย์ได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมผู้ใหญ่สูงวัยเล่นโซเชียลแล้วอันตรายกว่าเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งลูกหลานต้องคอยระวัง คอยบอกเป็นระยะๆ


สิ่งสำคัญเลยคือ ถ้าผู้สูงวัยเสพติดโซเชียลฯหรือฟังอะไรเป็นเวลานาน อาจจะเกิดความเครียดสะสมแบบไม่รู้ตัวอาจจะทำให้โรคประจำตัวอาทิ ความดันขึ้นก็ได้


ภาพจาก TNN Online

 



โทษของ Social Media กับผู้สูงวัย (ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ)


หากผู้สูงอายุบริโภค Social Media มากเกินไปก็อาจจะเกิดโทษได้ เช่น


-เสียสุขภาพ

-จ้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน ๆ สายตาพร่ามัว ทำลายจอประสาทตา

-ท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ปวดต้นคอ ปวดหลัง

-การใช้ Social Media ก่อนเข้านอน ทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจากมีการกระตุ้นระบบประสาทมากเกินไป จนอาจนำมาซึ่งโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง นำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด

-ขาดการออกกำลังกาย

-ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด

-บางรายสูญเสียทรัพย์สินเงินทองและเวลามากเกินไปโดยไม่จำเป็น

-อาจทำให้บริโภคข้อมูลที่ผิด หากทำตามก็อาจจะนำไปสู่อันตรายได้











ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง