รีเซต

สัญญาณ “โลกเดือด” เตือน “มนุษยชาติ” ก่อนหายนะ

สัญญาณ “โลกเดือด” เตือน “มนุษยชาติ” ก่อนหายนะ
TNN ช่อง16
22 กุมภาพันธ์ 2567 ( 19:30 )
53
สัญญาณ “โลกเดือด” เตือน “มนุษยชาติ” ก่อนหายนะ

          แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นหรือลดลง นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีเก็บข้อมูลอุณหภูมิของอากาศรายวันที่ระดับมาตรฐานคือ 2 เมตรจากผิวโลกทั่วทั้งโลก    เป็นการเฉลี่ยจากเหนือสุดถึงใต้สุด จากตะวันออกถึงตะวันตกรอบโลก จากนั้นนำมาหาค่าเฉลี่ยเป็นองศาเซลเซียส ทำให้พบสถิติตั้งแต่ปี 2522-2566  ที่พบว่า 3 กรกฎาคม  2566 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 17.01 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเก่าของเดือนสิงหาคม 2559  ซึ่งครั้งนั้นอุณหภูมิโลกเฉลี่ย 16.92 องศาเซลเซียส แต่เมื่อ  4 กรกฎาคม 2566 อุณหภูมิโลกได้พุ่งสูงทำลายสถิตอีกครั้งมีอุณหภูมิเฉลี่ย17.18 องศาเซลเซียส   ส่วนอุณหภูมิของมหาสมุทรโลก 30 กรกฎาคม พบว่าทำสถิติใหม่ 20.96 องศาเซลเซียส 



         โลกส่งสัญญาณเตือนผ่านปรากฎการณ์ต่างๆทางธรรมชาติ ทั้งอากาศแห้งแล้งอย่างหนักของ “ป่าแอมะซอน”ป่าดิบชื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ครอบคลุม 9 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ปัญหาไฟป่าที่รุนแรงและเกิดถี่ขึ้นในหลายประเทศ “ชิลี” พบความสูญเสียครั้งรุนแรงจากไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์มีผู้เสียชีวิตกว่า 130 คน  เผาพื้นที่ป่าหลายแสนไร่  ไฟป่าดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ชิลีเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงและมีอากาศร้อนอบอ้าวติดต่อกันหลายวันทำให้มีอุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 33 องศาเซลเซียส ด้านสหรัฐฯ รัฐแคลิฟอร์เนียได้รับผลกระทบจาก “ปรากฎการณ์แม่น้ำในชั้นบรรยากาศ”  3 ครั้งซ้อนในปีนี้  ส่วนจีนเจอกับพายุหิมะ พายุทราย  ฝนเยือกแข็ง น้ำท่วมและดินถล่ม อุณภูมิในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ -52.3 องศาเซลเซียสทำลายสถิติต่ำสุด ในรอบ 64 ปี เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 



          ข้อมูลจากสถาบันโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป รายงานสถิติข้อมูลพบว่า อุณหภูมิของโลกในรอบ 12 เดือนตั้งแต่ ก.พ. 2566 -ม.ค.2567 เฉลี่ยสูงขึ้น 1.52 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสฉบับปี 2558 ทำให้ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และการสูญเสียระบบนิเวศบนโลก สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัย Maine สหรัฐฯ ที่รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2567- ต้นเดือนก.พ. พบว่า อุณหภูมิอากาศของโลกสูงกว่าของปีที่แล้วทุกวันและมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่อง


          ข้อมูลจากรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มี 4ปัจจัยหลักที่ทำให้โลกมีอุณหภูมสูงขึ้น  ได้แก่ การกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส ขณะที่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”ที่รุนแรงมีผลทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3 องศาเซลเซียส  ส่วนช่วงเวลาการปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.05 องศาเซลเซียส  นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ ยังพบหลักฐานว่า การระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำตองกา ฮังกา (Tonga-Hunga) เมื่อปี 2565 ทำให้เกิด “หลุมโอโซน” ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เหนือทวีปแอนตาร์กติกา โดยโอโซนมีความสำคัญมากในการปกป้องมนุษย์จากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่รุนแรงจนอาจทำให้มนุษย์เป็นมะเร็งผิวหนังได้อย่างง่าย 



          นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะจากสัญญาณเตือน “โลกเดือด” ที่ทำให้  ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่ต้องให้ความสำคัญกับมาตรการการปรับตัว เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแต่จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือสะท้อนและให้เราต้องตระหนักว่า หายนะที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์... มนุษย์ก็ต้องเป็นคนแก้หายนะนี้ด้วยตัวเองเช่นกัน  









ข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

:สภาองค์กรของผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง