รีเซต

ครั้งแรกของโลก ! แผ่นวงจรต้มน้ำละลายได้ ทางใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ครั้งแรกของโลก ! แผ่นวงจรต้มน้ำละลายได้ ทางใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
TNN ช่อง16
4 สิงหาคม 2566 ( 13:34 )
158
ครั้งแรกของโลก ! แผ่นวงจรต้มน้ำละลายได้ ทางใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

แผ่นวงจรพิมพ์ หรือพีซีบี (Printed Circuit Board: PCB) เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรืออุตสาหกรรมการผลิตชิปและสารกึ่งตัวนำสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไอทีทั่วโลก แต่ว่าตัว PCB กลับเป็นหนึ่งในขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยสลายไม่ได้และทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ อินฟิเนียน (Infineon) บริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ชื่อดังจากเยอรมนี จึงได้พัฒนา PCB ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการละลายน้ำขึ้นมา


แผ่นวงจรไฟฟ้าต้มน้ำละลายได้

แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ดังกล่าวมีชื่อว่าโซลูบอร์ด พีซีบี (Soluboard PCB) หรือแผ่น PCB ที่ละลายน้ำได้ เป็นไอเดียของจีวา แมตทีเรียลส์ (Jiva Materials) สตาร์ตอัปจากอังกฤษที่ขายไอเดีย PCB ที่ตัวแผ่นแผงวงจรสร้างจากใยพืช (Fiber) และผสมกับพลาสติกแบบใหม่ที่เป็นโพลีเมอร์ปราศจากธาตุฮาโลเจน (Halogen-free Polymer) ซึ่งปกติจะใส่เพื่อทำให้โครงสร้างพลาสติกแข็งแรง 


ทางบริษัทได้แสดงการสาธิตการย่อยสลายด้วยการนำ PCB ละลายน้ำได้จากใยพืชไปต้มในน้ำร้อนเป็นเวลา 6 นาที ซึ่งพบว่าแผ่น PCB ส่วนที่เป็นแผ่นนั้นมีการละลายและเปลี่ยนรูปไป หรือถ้าใส่ในน้ำที่อุณหภูมิห้องจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง


ผลลัพธ์การทำแผ่นวงจรไฟฟ้าต้มน้ำละลายได้

การทำให้แผ่น PCB ละลายน้ำได้จะทำให้ตัวเซมิคอนดักเตอร์อย่างเช่น ชิปประมวลผล สวิตช์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ในแผงวงจรสามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่จะต้องนำไปรีไซเคิลทั้งหมดเพื่อสกัดนำแร่กลับมาใช้ใหม่


กระบวนการผลิตแบบใหม่ทำให้ทุก 1 ตารางเมตรของแผ่น PCB ละลายน้ำได้จากใยพืช ลดการใช้พลาสติกได้ 620 กรัม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 10.5 กิโลกรัม ลดรอยเท้าคาร์บอน หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ร้อยละ 60 เทียบกับกระบวนการผลิตแบบเดิม


อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท อินฟิเนียน ยังผลิตแผ่น PCB ละลายน้ำได้แค่ 600 แผ่น เท่านั้น ซึ่งเป็น 1 ใน 3 รูปแบบของแผ่น PCB ที่ย่อยสลายได้ทั้งหมดที่บริษัทคิดขึ้นมาร่วมกับจีวา แมตทีเรียลส์ โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ทันเป้าหมายการเป็นบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2030 ต่อไป

ที่มาข้อมูล Engadget

ที่มารูปภาพ Infineon


ข่าวที่เกี่ยวข้อง