เปิดอัตราเงินเดือน สว. 100,000 กว่าไม่รวมเบี้ยเลี้ยง
หลังจากที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดให้สมาชิกวุฒิสภาใหม่ 200 คน เข้ารายงานตัว พบว่าจนถึงวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา มี สว.เดินทางเข้ามารายงานตัวแล้วทั้งสิ้น 186 คน ส่วนที่เหลืออีก 14 คน รวมทั้ง นางนันทนา นันทวโรภาส จะเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในวันที่ 15 ก.ค. นี้ และจะมีการรวมตัวเพื่อหารือถึงโควตาในตำแหน่งประธานวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้วย
เบื้องต้น ทางสำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้แจ้งกำหนดการของวันที่ 15 ก.ค. ว่า ภายหลังการรับการแสดงตนของสมาชิกวุฒิสภาครบตามจำนวนแล้ว น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินการขั้นตอนหลังจากรับรายงานตัวแล้วเสร็จ ซึ่ง คาดว่าจะมีการแจ้งในประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับการประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อเลือกตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา
ทั้งนี้ หากไปติดตามดูเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ที่ สว. ใหม่จะได้รับ พบว่า เงินเดือนประจำตำแหน่งของประธานวุฒิสภา อยู่ที่ 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท รวมเดือนละ 119,920 บาท โดยนับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ขณะที่ รองประธานวุฒิสภา ได้เงินเดือนประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวมเดือนละ 115,740 บาท ส่วน สว.ได้เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม รวมเดือนละ 113,560 บาท
นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าประชุมคณะกรรมาธิการสามัญและกรรมาธิการวิสามัญได้รับเป็นรายครั้ง เฉพาะที่มาประชุมครั้งละ 1,500 บาท ส่วนเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ครั้งละ 800 บาท ซึ่งกำหนดให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวในหนึ่งวัน และหากมีคณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมด้วยในวันนั้นไม่เกิน 2 ครั้ง
ขณะเดียวกัน สว.ยังมีสิทธิ์ในการเบิกค่ายานพาหนะ กรณีเดินทางครั้งแรก เพื่อมารับหน้าที่ในวันปฏิญาณตน หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ได้รับเงินค่าเดินทาง หรือค่าน้ำมัน ในอัตรากิโลเมตรละ 4 บาท ส่วนเดินทางโดยรถไฟ รถยนต์ประจำทาง และเครื่องบิน สามารถแบ่งจ่ายตามจริงได้ โดยไม่สามารถให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์แทนได้ แต่สำหรับเดินทางโดยรถไฟ สามารถมีผู้ติดตามได้ 1 คน ต้องเลือกจองวันเวลาและชั้นเดียวกัน ซึ่งค่าตั๋วเครื่องบิน สามารถนั่งได้ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงผู้บริหารภาคส่วน
ส่วนสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล เบิกได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน มีค่าตรวจสุขภาพประจำปี ไม่เกิน 7,000 บาทต่อปี ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคต่อครั้งไม่เกิน 4,000 บาท กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน จะได้รับค่าห้องและค่าอาหารไม่เกิน 31 วันต่อครั้งที่ 4,000 บาท ค่าห้องไอซียู สูงสุด 7 วันต่อครั้ง ไม่เกิน 10,000 บาท ค่ารักษาทั่วไปต่อครั้งไม่เกิน 100,000 บาท และค่าผ่าตัดต่อครั้งไม่เกิน 120,000 บาท กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ไม่เกิน 20,000 บาทต่อครั้ง สำหรับการลาคลอดบุตร หากคลอดธรรมชาติ สามารถเบิกจ่ายได้ไม่เกิน 20,000 บาท คลอดโดยการผ่าตัดไม่เกิน 40,000 บาท และมีสิทธิ์ในการรักษาทันตกรรมต่อปีไม่เกิน 5,000 บาท
ภาพข่าว:TNN