สื่อดังชี้ "เชื้อราดำ" อาจมาจากการติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า?
วันนี้( 5 มิ.ย.64) หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษ นำเสนอเกี่ยวกับการติดเชื้อราดำในผู้ป่วยโควิด-19ของอินเดีย ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาอาการโควิด ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันถูกกดการทำงาน ส่งผลให้เชื้อราเหล่านี้ฉวยโอกาสทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ โดยในบทความนี้ระบุว่า ปัญหาการเกิดเชื้อราดำ อาจจะมาจากไวรัสสายพันธุ์เดลต้า หรือ B.1.617.2 ที่ระบาดและสร้างความเสียหายหนักในอินเดีย เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้เข้าสู่เซลล์โดยอาศัยโปรตีนตัวรับชื่อว่า GRP78 (glucose-regulator protein 78) ซึ่ง ถูกกระตุ้นให้แสดงออกสูง ด้วยปริมาณของกลูโคสในร่างกาย หรือ น้ำตาลเยอะ จะเปิดโอกาสให้เชื้อรานี้ ติดเข้าสู่ร่างกายได้เยอะเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ แพทย์ในอินเดีย พบว่า ผู้ป่วยโควิดหลายรายที่ติดโควิดสายพันธุ์เดลต้า มีอาการคล้ายคนเป็นโรคเบาหวาน คือ น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาแบบเฉียบพลัน คาดว่าไวรัสอาจจะเข้าทำลายเบต้าเซลล์ในตับอ่อน ซึ่งเป็นเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ
ด้าน นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ระบุว่า เคยมีข้อมูลว่าไวรัสโควิด-19 สามารถติดและทำลายเซลล์ตับอ่อนได้จริง แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะบอกว่าอาการดังกล่าวมาจากการติดเชื่อโควิดสายพันธุ์เดลต้า โดยต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มอีก
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ เปิดเผยว่า มีชาวอังกฤษถึง 1 ล้านคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ หรือ เรียกว่าภาวะ"ลองโควิด” (Long COVID) แม้ว่าจะรักษาจนหายดีแล้ว หลังจากติดเชื้อโควิด-19 อย่างน้อย 12 สัปดาห์ หรือ ประมาณ 3 เดือน โดยในจำนวนนี้ กว่า 650,000 คน ระบุว่า อาการเรื้อรังต่างๆที่เกิดขึ้นได้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ทำกิจกรรมตามปกติทำได้ยากลำบากขึ้น
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ มี 376,000 คน ที่เคยติดเชื้อ หรือเชื่อว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก เมื่อ1 ปีก่อน ระบุว่า ต้องทุกข์ทรมานกับอาการลองโควิดมานานถึง 1 ปี เป็นอย่างน้อย ซึ่ง ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับข้อมูลก่อนหน้านี้ ที่เก็บในช่วง 4 สัปดาห์จนถึงวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา
สำหรับอาการลองโควิดที่พบ เช่น เกิดภาวะสมองล้า หายใจติดขัด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง หรือ ปวดตามข้อ เจ็บหน้าอก ไอ เหนื่อยง่าย และปวดศีรษะหรือนอนไม่หลับ เป็นต้น