อาจพลาดตลอดชีวิต ? ชวนดูโนวาระเบิด ในรอบ 80 ปี มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ณ ตำแหน่งที่ห่างจากโลกประมาณ 3,000 ปีแสง มีระบบดาวคู่ชื่อ โคโรนา โบรีอาลิส (Corona Borealis) เป็นระบบดาวที่ประกอบด้วยดาวแคระขาว 1 ดวงชื่อ ที โคโรนา โบรีอาลิส (T Corona Borealis) หรือ ที ซีอาร์บี (T CrB) และดาวยักษ์แดงอายุมาก 1 ดวง บริเวณนี้เองนักดาราศาสตร์ชี้ว่ามันกำลังนับถอยหลังสู่สิ่งที่เรียกว่า “ระเบิดโนวา” อันน่าตื่นตาตื่นตื่นใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 80 ปี นั่นหมายถึงหากพลาดครั้งนี้ ก็อาจเรียกได้ว่าจะไม่มีให้ดูอีกแล้วตลอดชีวิต ซึ่งการระเบิดโนวาครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้บอกวันและเวลาที่เฉพาะเจาะจง แต่บอกเพียงกรอบเวลากว้าง ๆ ว่าจะเกิดขึ้นก่อนเดือนกันยายนปี 2024 นี้ และเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
วิลเลียม เจ คุก (William J Cooke) ผู้จัดการโครงการสิ่งแวดล้อมอุกกาบาตขององค์การนาซากล่าวว่า “ผมตื่นเต้นมาก มันเหมือนการปรากฏตัวของดาวหางฮัลเลย์ที่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 75 - 80 ปี”
อะไรทำให้เกิดระเบิดโนวา ?
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วระเบิดโนวาเกิดจากอะไร ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้อธิบายว่าการระเบิดนั้นเป็นผลมาจาก ดาวยักษ์แดง ที่อยู่ในระบบของมันนั่นเอง ดาวทั้งสองดวงนี้โคจรรอบกันและกัน ระหว่างนั้นดาวเคราะห์ขาวที่มีแรงโน้มถ่วงสูงมากก็จะดูดสสารออกจากดาวยักษ์แดงมาเก็บสะสมไว้ที่พื้นผิวของมัน เมื่อสะสมมากเข้าก็จะถึงขีดจำกัดจนระเบิดขึ้น ปรากฏการณ์นี้จะทำให้เกิดแสงสว่างเพิ่มประมาณ 1,000 - 100,000 เท่าเมื่อมองจากโลก นักดาราศาสตร์ชี้ว่าความสว่างจะเทียบเท่ากับดาวเหนือ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก
นักดาราศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดระเบิดโนวาเมื่อไหร่ ?
ตามปกติแล้วนักดาราศาสตร์จะไม่รู้ว่าการระเบิดของโนวาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่หากเป็นโนวาที่ระเบิดซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เรียกว่า "โนวาระเบิดซ้ำ (recurrent novas)" นักวิทยาศาสตร์ก็จะทำการคำนวณการเกิดขึ้นของโนวาได้ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์รู้จักโนวาระเบิดซ้ำประมาณ 10 โนวา
ซึ่งโนวา T CrB เป็นหนึ่งในโนวาที่เกิดซ้ำนั่นเอง โดยนักวิทยาศาตร์สามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อระบุว่าโนวา T CrB จะระเบิดอีกครั้งเมื่อไหร่ รวมไปถึงทราบการระเบิดครั้งล่าสุดว่าเกิดขึ้นในปี 1946 หรือเมื่อ 78 ปีก่อน และอีกหนึ่งจุดพิจารณาก็คือ ก่อนที่จะระเบิดโนวา ดาวจะดับแสงลงไปก่อนประมาณ 1 ปี ซึ่ง T CrB เองก็เริ่มมอดแสงไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 นั่นทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า T CrB นั้นสามารถระเบิดโนวาได้ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงก่อนเดือนกันยายน 2024
สำหรับ T CrB ถือว่ามีความพิเศษ เพราะมีคาบการระเบิดซ้ำที่สามารถศึกษาได้ ทั้งนี้โนวาอื่น ๆ ที่พบจำนวนมากนั้นไม่ได้เป็นโนวาที่เกิดซ้ำ หรือไม่ก็ใช้เวลานานมาก ๆ กว่าจะระเบิดซ้ำ จนมนุษย์ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอีกทีเมื่อไหร่
ริชาร์ด ทาวน์เซนด์ (Richard Townsend) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันชี้ว่า “ช่วงเวลาการระเบิดโนวา สามารถเกิดซ้ำได้ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 1 ล้านปี”
เมเรดิธ แมคเกร (Meredith MacGregor) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์กล่าวว่า “เหตุการณ์นี้ดำเนินไปในวัฏจักรของการสะสมสสาร โดยปกติจะใช้เวลาหลายพันปี แต่ดูเหมือน T CrB จะทำได้เร็วกว่านั้นมาก ทำให้มันเป็นโนวาที่หายาก”
สำหรับผู้ที่อยากมองเห็นการระเบิดโนวาสักครั้งในชีวิต ให้มองไปบนท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาว Corona Borealis หรือกลุ่มดาวมงกุฏเหนือ (Northern Crown) ซึ่งจะเรียงตัวกันเป็นเส้นโค้งเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ กับกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes) และกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules)
สำหรับการระเบิดโนวา เมื่อระเบิดแล้วอาจกินเวลายาวนานประมาณ 1 สัปดาห์ แต่จะปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าประมาณ 2 - 3 วัน ซึ่งนั่นถือว่ายาวนานพอที่จะทำให้เราสัมผัสกับมันด้วยตาตัวเองได้อย่างเพียงพอ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นก่อนเดือนกันยายน 2024 นี้ แม้ไม่ทราบช่วงเวลาที่แน่ชัด แต่ก็เรียกได้ว่าอีกไม่นานแล้ว ดังนั้นอย่าพลาดที่จะรับชม เพราะถ้าพลาดอาจจะไม่ได้เห็นอีกเลยในช่วงชีวิต
ที่มาข้อมูล BBC
ที่มารูปภาพ NASA