รีเซต

เด็กอัสสัมชัญคว้าแชมป์โลกในการแข่งขันดาวเทียมขนาดเล็ก

เด็กอัสสัมชัญคว้าแชมป์โลกในการแข่งขันดาวเทียมขนาดเล็ก
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2565 ( 12:25 )
161

การแข่งขันแคนแซทเป็นการแข่งขันดาวเทียมจิ๋ว (CanSat) หรือดาวเทียมขนาดเล็กที่มีขนาดประมาณกระป๋องเครื่องดื่ม ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งในการแข่งขันประจำปี 2022 นี้ มีทีมเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 23 ทีม จาก 11 ประเทศ โดย 2 ใน 23 ทีม เป็นทีมนักเรียนมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้แก่ ทีมกราวิตี้ (Gravity) และทีมเดสเซนเดียร์ (Descendere)


การแข่งขันมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ณ แบล็กส์เบิร์ก (Blacksburg) รัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) สหรัฐอเมริกา จัดขึ้นโดยสมาคมนักบินอวกาศอเมริกัน (The American Astronautical Society หรือ AAS)


ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กและส่งขึ้นไปที่ความสูง 700 เมตร เหนือพื้นดื้น ด้วยจรวดความเร็วสูง เพื่อปฏิบัติภารกิจ หลังจากนั้นจึงทำการเก็บกู้ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลความสำเร็จ


ทีมกราวิตี้คว้าแชมป์โลกการแข่งขันแคนแซทประจำปี 2022 ไปครอง ด้วยคะแนน 86.2185 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทีมเดสเซนเดียร์คว้าอันดับ 7 ไปครอง ด้วยคะแนน 66.4924 เปอร์เซ็นต์


สมาชิกของทีมกราวิตี้ ได้แก่

1. ปิติภูมิ อาชาปราโมทย์

2. กฤษฎา สิงหะคเชนทร์

3. ธรรศวริทธิ์ เครือคล้าย

4. นุชิต วิจิตรกิจจา

5. กิตติภณ อมรประเสริฐกิจ

6. สุวิจักขณ์ ปิยะนพโรจน์

7. ฆฤณ กวีวงศ์สุนทร

8. อัคคนิรุทธิ์ ปานเดช

และมีดร. โจชัว สตาบส์ (Joshua Staubs, Ph.D.) เป็นที่ปรึกษา


ส่วนทีมเดสเซนเดียร์ ได้แก่

1. พุทธิพงศ์ สวัสดิบุญหนา

2. ริชภูมิ  อุดมพรวิรัตน์

3. กฤตยชญ์ สวิง

4. กฤตวัฒน์ ปุญญพัฒนกุล

5. เวธน์วศิน ศิริรัตน์อัสดร

6. ศุภวิชญ์ แก้วนิรัตน์

7. ณรงค์ภัทร ราศรีเพ็ญงาม

8. บุญฤทธิ์ ปฐมนันทพงศ์

9. พศิน ตันติรัฐพงศ์

และมีดร. พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา, มาสเตอร์ พชร ภูมิประเทศ และมาสเตอร์ณัฐกิตติ์ ขวัญกิจพิศาล เป็นที่ปรึกษา


นายบุญฤทธิ์ ปฐมนันทพงศ์ ทีมกราวิตี้ เล่าว่า "ภารกิจ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจหลัก คือ การส่งดาวเทียวขนาดจิ๋วที่เราประดิษฐ์ไปที่ความสูงราว 700 เมตร และเมื่อตกลงมาต้องมีร่มชูชีพ 2 อัน ร่มแรกต้องกางออกเมื่อออกมาจากจรวดและมีความเร็ว 15 เมตร/วินาที ร่มที่สองต้องกางที่ความสูง 400 เมตรและมีความเร็ว 5 เมตร/วินาที และเมื่อถึง 300 เมตร ต้องปล่อยตัวเพย์โหลด (Payload )ที่ถูกเกี่ยวด้วยเชือกยาว 10 เมตร ออกมา โดยตัวเพย์โหลดจะต้องมีกล้องถ่ายวิดีโอไปทางทิศใต้ตลอดเวลา ส่วนภารกิจพิเศษคือมีกล้องในคอนเทนเนอร์ (Container) เพื่อบันทึกวิดีโอขณะที่กำลังปล่อยเพย์โหลด"


นายณรงค์ภัทร ราศรีเพ็ญงาม เพิ่มเติมว่า "ทีมของเรามีปัญหาตอนก่อนมาที่อเมริกา คือ ไม่สามารถพิมพ์ 3 มิติ ได้ทัน จึงต้องขอความช่วยเหลือจากพี่ในกลุ่ม 3D Thailand (ทรีดี ไทยแลนด์) ในการให้ความช่วยเหลือด้านการพิมพ์ 3 มิติ และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของทีมเรา คือ ในช่วงแรกของการแข่งขัน เราค่อนข้างที่จะขาดประสบการณ์ เพราะคิดว่าสามารถทำได้สบาย ๆ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นงานที่ค่อนข้างยาก พวกเราเลยต้องต้องมาเหนื่อยเอาตอนก่อนที่จะแข่งประมาณ 1 เดือน แต่ก็สามารถทำออกมาได้ โดยมีรุ่นพี่ในชมรม Space AC (สเปซ เอซี) ให้การสนับสนุนพวกเราเป็นอย่างดี ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้พวกเราได้ประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่ไหนได้ ได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างชาติ ได้มิตรภาพการทำงานเป็นทีม"


ข้อมูลและภาพจาก @AssumptionCollege1885

ข่าวที่เกี่ยวข้อง