“ประยุทธ์” ร่วมประชุม P4G ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการพัฒนาอย่างสมดุล
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 31 พ.ค.ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว และเป้าหมายโลกปี ค.ศ. 2030 ครั้งที่ 2 ( 2nd Partnering for Green Growth and Global Goals 2030 Summit : 2nd P4G Summit) ซึ่งประเทศเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด ภายใต้หัวข้อหลัก “การฟื้นฟูสีเขียวอย่างครอบคลุมเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Inclusive Green Recovery towards Carbon Neutrality) โดยนอกจากนายกรัฐมนตรีไทยแล้ว มีผู้นำ ผู้แทน ประเทศ กลุ่มประเทศ และองค์การระหว่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงด้วย ดังอาทิ เกาหลีใต้ เดนมาร์ก โคลอมเบีย สหภาพยุโรป เวียดนาม เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กัมพูชา ออสเตรีย คอสตาริกา และเปรู ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูจากโควิด-19 อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกในทุกมิติ ดังนั้น การฟื้นฟูจากโควิด-19 จำเป็นต้องสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SGDs)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลักสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ เน้นการเสริมสร้างพลังของประชาชน สร้างความต้านทาน และส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีความครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาของไทย ซึ่งได้ประกาศให้การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นวาระแห่งชาติ ว่า ใช้เป็นอีกหนึ่งแนวทางฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 ให้กลับมาเข้มแข็งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียทรัพยากรตลอดห่วงโซ่การผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไกจตุภาคี ที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งเชื่อว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG สอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือ และสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับประชาคมระหว่างประเทศในทุกระดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบเอเปค (APEC) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า ด้านสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีระหว่างประเทศชะงัก ซึ่งไทยขอใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้ทุกประเทศเร่งดำเนินการตามพันธกรณีต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทาย และแสดงเจตจำนงร่วมกันผลักดันการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุม COP 26 ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ที่สหราชอาณาจักร เพื่อให้มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางของไทย ว่า อยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการในทุกมิติที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายให้มีการใข้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ จำนวน 15 ล้านคัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ ภายในปี 2578 รวมทั้งจะปลูกต้นไม้ยืนต้นร้อยล้านต้น เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดขยะบนบก ขยะทะเล ตามยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทที่รัฐบาลกำหนด
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ พร้อมกล่าวว่า ขอเชิญชวนทุกประเทศให้ร่วมกันหารือวางแนวทางความร่วมมือใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเติบโตสีเขียวอย่างแท้จริงและยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมและพร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัสของเกาหลีใต้ (New Southern Policy Plus – NSPP) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของการประชุมประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้กล่าวสรุป และที่ประชุมได้รับรองปฏิญญากรุงโซล (Seoul Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศที่ร่วมการประชุม P4G ครั้งที่ 2 มีสาระสาคัญ ดังนี้ 1. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างบทเรียนต่อการรับมือกับวิกฤตภูมิอากาศของโลก และความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน 2. มุ่งมั่นรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ได้ประกาศในการประชุมระดับผู้นำระหว่างประเทศในเวทีต่าง ๆ และหวังที่จะสานต่อความมุ่งมั่นดังกล่าวในการประชุม G7 G20
และการประชุมระหว่างประเทศ รวมถึงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) 3. ความสำคัญของการฟื้นฟูสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีสีเขียว และการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งเสริมการรับมือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 4. ย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนใน 5 ด้าน ได้แก่ น้ำสะอาด พลังงานสะอาด อาหารและเกษตรกรรม เมืองสีเขียว และเศรษฐกิจหมุนเวียน 5. ย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสีเขียวและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน