รีเซต

คลิปโป๊ว่อนเน็ต! เพราะ Sextortion หรือการข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกออนไลน์

คลิปโป๊ว่อนเน็ต! เพราะ Sextortion หรือการข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกออนไลน์
Ingonn
17 มิถุนายน 2564 ( 13:59 )
722
คลิปโป๊ว่อนเน็ต! เพราะ Sextortion หรือการข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกออนไลน์

 

ทุกวันนี้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่นิยมใช้สื่อโซเชียลในการสื่อสารและพูดคุย เช่น Facebook, Twitter, LINE ฯลฯ ซึ่งมีความรวดเร็วและที่สำคัญสามารถปกปิดตัวตนได้ง่าย ทำให้การกระทำความผิดเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกัน หากผู้ใช้งานไม่รู้จักระมัดระวังป้องกันตนเอง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศโดยไม่รู้ตัว

 

 

 

จากผลสำรวจของ TICAC


คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา สามารถสืบสวนจับกุมคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์จากสื่อลามกเด็กบนอินเทอร์เน็ตมากกว่า 215 คดี ในจำนวนดังกล่าวมี 69 คดี ที่เป็นคดีค้ามนุษย์ที่มีผู้เสียหายเป็นเด็ก และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้มากกว่า 248 คน ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ รวมถึงสามารถช่วยเหลือเด็กผู้เสียหายได้มากกว่า 1,000 คน

 

 

การกระทำความผิดที่พบบ่อยครั้งได้แก่ การที่เหล่ามิจฉาชีพมักจะสร้างโปรไฟล์โซเชียลมีเดียปลอมขึ้นเพื่อพูดคุยกับเด็ก และหลอกให้เด็กส่งภาพหรือคลิปโป๊เปลือยมาให้ตนเอง เพื่อนำไปแสวงหาประโยชน์โดยการขายภาพหรือคลิปโป๊เปลือยของเด็กผู้เสียหายดังกล่าวบนระบบอินเทอร์เน็ต อันเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพเหล่านี้ จะสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน จากการสืบสวนจับกุมของคณะทำงาน TICAC แสดงให้เห็นว่า คดี 1 คดีที่มีผู้กระทำความผิด 1 คน สามารถมีผู้เสียหายที่เป็นเด็กได้มากกว่า 100 คนขึ้นไป

 

 

จากการช่วยเหลือเด็กผู้เสียหายของการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก พบว่าเด็กได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาและทางสังคมอย่างรุนแรง เนื่องจากสื่อลามกของเด็กผู้เสียหายไม่สามารถจะนำออกจากระบบอินเทอร์เน็ตได้ เพราะได้ถูกเผยแพร่ไปแล้ว ทำให้ต้องทุกข์ทรมานจากเพื่อนฝูงและสังคมต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด การดูแลคุ้มครองและเยียวยาเด็กผู้เสียหายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานและ NGOs ที่มีศักยภาพและความตั้งใจจริงที่จะดูแลเด็กในระยะยาว

 

 

 

จะเห็นได้ว่า สังคมไทยเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ที่ใช้เป็นประจำได้ง่าย จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ วันนี้ TrueID จึงจะพาทุกคนมารู้จักพฤติกรรมของมิจฉาชีพเหล่านี้ พร้อมวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราเอง

 

 

 

Sextortion หรือการข่มขู่กรรโชกทางเพศบนโลกออนไลน์


เป็นการขู่กรรโชกทางเพศ โดยการหลอกให้เหยื่อหลงกลและตกลงทำตามโดยง่าย เมื่อเหยื่อทำตาม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยเนื้อตัว อวัยวะปกปิด การเต้นยั่วยวน โชว์วาบหวิว หรือการสำเร็จความใคร่ โดยมีกล้องอยู่ด้านหน้า ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดทั้งภาพและเสียงไปยังอีกฝั่งหนึ่ง มิจฉาชีพจะบันทึกภาพวิดีโอดังกล่าวไว้แล้วนำมาขู่ว่าจะเผยแพร่คลิปดังกล่าว แลกกับการส่งคลิปใหม่ ๆ หรือการเรียกโอนเงินค่าไถ่ไปให้

 


มักเริ่มต้นด้วยการเข้ามาขอเป็นเพื่อนผ่านช่องทางต่าง ๆ และชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ กิจกรรมที่ว่านั้นประกอบด้วยการแลกกล้อง โชว์หวิว เช่น เธอเปิดกล้องของเธอ ฉันเปิดกล้องของฉัน โดยฝ่ายที่มาหลอกมักเริ่มโชว์ก่อนเพื่อให้เหยื่อหลงกล

 


แต่การขู่กรรโชกมักไม่จบสิ้นเพียงแค่นั้น มิจฉาชีพมักจะมีข้อเรียกร้องที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ขอให้ส่งภาพไปให้อีก ขอสนุกกันผ่านทางหน้ากล้องอีก ไปจนถึงการนัดพบและบังคับให้เหยื่อยอมมีอะไรด้วย และแน่นอนว่าหากเหยื่อหลงเชื่อก็จะนำไปสู่การสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพหลุดมากขึ้น เสียชื่อเสียงมากขึ้น เสียเงินมากขึ้น เสียตัวเพราะพลาดไปนัดพบ ซ้ำร้ายอาจถูกอัดคลิปโดนข่มขืนกระทำชำเราหรืออะไรที่ร้ายแรงกว่าเดิม และเกิดความเสียหายทางจิตใจคือการที่เหยื่อรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ทำผิด ถูกประจาน เกิดความหวาดระแวง และเกิดบาดแผลขึ้นในจิตใจ

 

 


ยกตัวอย่าง พฤติกรรม Sextortion การข่มขู่กรรโชกทางเพศ


- โดนแฟนเก่าขู่ว่าจะเอาภาพลับส่วนตัว ที่แฟนเคยถ่ายตอนอยู่ด้วยกันไปปล่อยบนโลกออนไลน์ โดยเรียกเงินเพื่อแลกกับการที่จะไม่ทำตามคำขู่

 


- เด็กสาวเปิดกล้องทำกิจกรรมทางเพศ แล้วโดนคนอีกฝั่งอัดคลิปไว้ แล้วข่มขู่ว่าจะนำไปประจาน หากไม่ส่งคลิปใหม่ไปให้ หรือออกมาเจอกัน

 

 

เหล่านี้คือการขู่กรรโชกทางเพศ ที่เรียกว่า "Sextortion" ทั้งสิ้น

 

 

 

การป้องกันการขู่กรรโชกทางเพศ 


1.การพิจารณาเลือกรับเพื่อนบนโลกออนไลน์เข้ามาในชีวิต ให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวง แม้บางครั้งจะเป็นเพื่อนของเพื่อนก็ควรตรวจสอบดูให้แน่ชัดเสียก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ และเป็นเพื่อนจริง ๆ หรือไม่ 

 


2.เมื่อรับเพื่อนแปลกหน้าแล้ว การพูดคุยและส่งรูปอะไรก็ตามควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน จำไว้ว่าไม่ควรส่งภาพส่วนตัวไปให้ใครดูทางออนไลน์ทั้งนั้น เพราะต่อให้เป็นเพื่อนรักหรือคนรักกัน วันหนึ่งเมื่อเลิกราหรือทะเลาะกัน คลิปหรือรูปภาพส่วนตัวก็อาจถูกนำมาแฉได้ทุกเมื่อแม้ว่าเพื่อนหรือคนรักเราจะไม่ได้เป็นมิจฉาชีพก็ตาม

 

 

เมื่อตกเป็นเหยื่อ Sextortion ควรทำอย่างไร


หากตกเป็นเหยื่อไปแล้ว ไม่ควรส่งเงินหรือทำตามที่มิจฉาชีพบังคับให้ทำ เพราะจะยิ่งทำให้มิจฉาชีพได้เครื่องมือในการขู่กรรโชกเพิ่มขึ้นไปอีก ควรปรึกษาคนที่เราไว้วางใจและสามารถช่วยเหลือเราได้ เก็บรวบรวมข้อมูลการขู่กรรโชก ชื่อบัญชีและรายละเอียดของคนที่ขู่กรรโชกเราไว้เพื่อแจ้งความดำเนินคดี นอกจากเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว ยังจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อได้อีกด้วย

 

 

 

การเก็บหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดี


ในการเก็บหลักฐานเพื่อแจ้งความ ให้เก็บข้อมูลหรือข้อความที่พูดคุยกันทั้งหมด เก็บรูปโพรไฟล์ ชื่อบัญชี หรือ ID ต่าง ๆ อะไรก็ตามที่แสดงหรือยืนยันตัวตนของมิจฉาชีพผ่านทางช่องทางการติดต่อต่าง ๆ บันทึกรูปภาพหรือคลิปที่ถูกนำไปใช้ หากเหยื่อเคยโอนเงินให้คนร้ายแล้ว ให้เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้ด้วย ทั้งหมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บัญชี และชื่อเจ้าของบัญชี แล้วนำเอกสารทั้งหมดไปแจ้งที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร. 0 2142 2556 อีเมล : tcsdstaff@police.go.th

 

 

 

การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น


หากเจอรูปภาพ/คลิปส่วนตัวของเราถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์ เบื้องต้นให้หาวิธีแจ้งลบ เช่น เฟซบุ๊ก หรือ ยูทูบ สามารถคลิกแจ้งลบด้วยตนเองได้ หากพบในเว็บไซต์ใดก็ควรแจ้งให้ผู้ดูแลเว็บไซต์นั้นช่วยลบ โดยอาจต้องแสดงหลักฐานประกอบว่า เราคือผู้เสียหายจริง ๆ ในกรณีที่เป็นสื่อลามกอนาจารเด็กสามารถแจ้งได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiHotline.org หรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทีม TICAC สามารถติดต่อได้ที่ https://www.facebook.com/TICAC2016/

 

 

 

การเยียวยาจิตใจ


ในด้านการเยียวยาความเสียหายทางจิตใจ หลังจากได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่แล้ว ไม่ควรพูดคุยกับคนแปลกหน้าอีก และอาจจะต้องทำใจว่า แม้ลบคลิปไปแล้ว ก็อาจจะกลับมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ได้อีก ดังนั้นควรสร้างจิตใจให้เข้มแข็งและให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรียน รวมถึงคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างมากในการให้กำลังใจ การไม่ซ้ำเติมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเหยื่อ ชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ แบ่งปัน อาจเป็นงานอาสาสมัครที่ทำให้เหยื่อรู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง ไม่โทษตนเอง มีจิตใจที่เข้มแข็งสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข

 

 

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ , TICA

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง