ซีรีส์วายไทย “ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์” ถึงกับทำคนย้ายประเทศมาไทย
ด้วยรูปลักษณ์ของบรรดานักแสดงที่ดูดี เรื่องราวที่อาจไม่ค่อยพบในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ซีรีส์วายของไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับประเทศนับ ”หมื่นล้าน” พร้อมถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่ทางรัฐบาลก็พยายามผลักดัน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
---สาวจีนย้ายถิ่นฐาน เพราะซีรีส์วายไทย—
“ซีรีส์วาย” มีจุดเริ่มต้นมาจาากการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นในช่วงปี 1960 ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย โดยคนส่วนใหญ่จะเรียกชื่อ การ์ตูนประเภทนี้ว่า “Yaoi” ก่อนที่ต่อมา ไทยได้เริ่มสร้างซีรีส์แนวนี้ และทำให้เป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จนกลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมที่เฟื่องฟูของประเทศไทย
“ฉันรู้สึกว่า ประเทศไทยมีความเปิดกว้างมาก ๆ ผู้คนไม่แคร์เรื่องเพศ และเข้าใจว่า นั่นเป็นทางเลือกของผู้คน ทุกความรักมีความเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคู่รักชาย หญิง หรือ คู่รักเพศที่สาม” หวง ปิงปิง หญิงชาวจีนวัย 36 ปี ผู้ชื่นชอบซีรีส์วายไทย กล่าว
หวง เผยกับสำนักข่าว AFP ว่า ในช่วงชีวิตที่เผชิญกับความยากลำบาก เธอได้ดูซีรีส์วายของไทย และสิ่งนั้นได้กลายพื้นที่ทางใจให้กับเธอ จนเธอตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแฟนคลับซีรีส์วาย ซึ่งตอนนี้ กลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่โด่งดังกระจายไปทั่วเอเชีย
---อุตสาหกรรมนับพันล้าน ซอฟต์พาวเวอร์ระดับประเทศ—
ซีรีส์วาย เรียกได้ว่า เป็นคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับประเทศจีน ที่แม้ว่ารัฐบาลจะมีการสั่งห้ามบริษัทจีนผลิต หรือ นำเข้า เนื้อหาประเภทดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรสาววายจีนได้ เพราะพวกเธอจะพยายามหาวิธีต่าง ๆ ในการที่จะสามารถดูซีรีส์วายให้จนได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนักแสดงที่พวกเธอชื่นชอบ
“เรารับชมผ่านช่องทางต่างประเทศ เพราะเราชอบเรื่องพวกนี้ เราจึงพยายามหาวิธีในการดู แม้ว่าเราจะไม่สามารถหาวิธีนั้นได้ เราก็จะถามคนอื่น ๆ ว่า มีวิธีดูซีรีส์เรื่องนี้อย่างไร” หวง กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 2564 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ญี่ปุ่น เวียดนาม และไต้หวันสนใจซื้อคอนเทนต์ซีรีส์วายของไทยมากที่สุด โดยคิดเป็นรายได้เกือบ 360 ล้านบาท
ผลงานของผู้ประกอบการไทยยังได้รับความสนใจจากต่างชาติอย่างมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมแห่งนี้ มีมูลค่าทางการตลาดราว 1 พันล้านบาท และทางรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนสื่อบันเทิงชนิดนี้ ให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เทียบเท่าอุตสาหรกรรม K-POP ของเกาหลีใต้
สารนิพนธ์มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2565 เรื่อง “ปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และใหญ่กว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์แนวอื่น ๆ ของไทย” เขียนโดย รวิวรรณ จงสืบโชค ที่ศึกษาหาสาเหตุว่าทำไมซีรีส์วายไทยถึงเป็นที่นิยมอย่างมาก แบ่งออกได้เป็นทั้งหมด 5 ปัจจัย ดังนี้
บทละครในการดำเนินเรื่องของซีรีส์ มีความแปลกใหม่ ไม่ยึดติดกับบทละครแนวคิดเดิม ๆ
ความรู้สึกของแฟนคลับต่อนักแสดงซีรีส์วายของไทย มีความคล้ายคลึงกับแฟนคลับที่ชื่นชอบนักแสดง และศิลปินเกาหลี
การใช้นักแสดงซีรีส์วายไทย เป็นพรีเซนเตอร์สินค้าต่าง ๆ ช่วยสร้างการรับรู้ของแบรนด์และผลักดันยอดขายได้เป็นอย่างดี
Twitter เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในการประชาสัมพันธ์ซีรีส์วาย
ทัศนคติของผู้ที่ชื่นชอบซีรีส์วายไทย เชื่อว่า กฎหมายไทยควรเปลี่ยนให้มีการรับรองสมรสเท่าเทียม (หมายเหตุ: งานวิจัยชิ้นนี้ เขียนเมื่อปี 2565 ปัจจุบันสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 เตรียมประกาศออกใช้เป็นกฎหมาย)
อ่านวิจัยฉบับเต็ม:
https://archive.cm.mahidol.ac.th/bitstream/123456789/4786/1/TP%20MM.047%202565.pdf
---จาก Boys Love สู่ Girls Love---
การผลิตซีรีส์วายในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จอย่างมากในหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ด้วยยอดชมที่พุ่งสูงถึง 10 ล้านวิวต่อตอน
ขณะเดียวกัน ด้วยความสำเร็จของซีรีส์ Boys Love ของไทย ก็ทำให้ซีรีส์ Girls Love เติบโตมากขึ้นไปด้วย
“ฉันพูดได้เลยว่า ซีรีส์วายไทยเป็นที่นิยมมาก ๆ ในช่วงโควิด เหตุผลง่าย ๆ เลยก็คือ คนไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการนั่งอยู่ที่บ้านเฉย ๆ ดู Netflix, ดู YouTube” Trinh Thu Ha ที่ปรึกษาการท่องเที่ยว หนึ่งในแฟนคลับซีรีส์วายไทย กล่าว
นอกจากผลิตซีรีส์แล้ว บริษัทผู้จัดทำซีรีส์ ยังได้จัดอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อให้แฟนคลับและนักแสดงได้พบปะกัน
ภูวิน บุณยะเวชชีวิน นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยตัวเลขการจัดอีเวนต์จากผู้จัดซีรีส์วายก้าวกระโดดอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2014-2018 มีการจัดอีเวนต์ในลักษณะดังกล่าวราว 19 งาน แต่พอเข้าปี 2021 มีการจัดงานอีเวนต์เพิ่มขึ้นเป็น 29 งาน และเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2 เท่า เป็น 75 งาน ในปี 2022
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ซีรีส์วายของไทย ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครองใจฐานผู้ชมแฟน ๆ ได้หลากหลายเชื้อชาติ จนกลายเป็นสื่อบันเทิงที่ทั่วโลกจับตามองว่า นี่จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ที่อาจเทียบเคียงอุตสาหกรรม “K-POP” ของเกาหลีใต้ได้ในอนาคต
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
AFP - The Thai 'boys' love' TV dramas conquering Asia
https://archive.cm.mahidol.ac.th/bitstream/123456789/4786/1/TP%20MM.047%202565.pdf
https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=7328&context=chulaetd
https://ir.swu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/28512/1/His-Con-Wassana-S-smarts11.pdf
http://dspace.bu.ac.th/jspui/bitstream/123456789/4927/3/taksaya_mokb.pdf