เปิดทำเนียบฯ ถ่ายภาพประวัติศาสตร์ “สมรสเท่าเทียม” ธงสีรุ้งปักลงบนประเทศไทย
วันนี้ (15 มกราคม 2568 ) 16.00 น. ณ สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมบันทึกภาพเนื่องในโอกาสประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมี
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งเอกอัครราชทูตและผู้แทนต่างประเทศ อาทิ นาย Mark Gooding OBE เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นาย Jean-Claude Poimboeuf เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นาย Robert F. Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ นางสาว Michaela Friberg-storey ผู้ประสานงานสหประชาชาติ พร้อมด้วยผู้แทนคู่รัก LGBTQ+ ร่วมถ่ายภาพฉลองความสำเร็จของกฎหมายดังกล่าว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า การถ่ายภาพฉลองความสำเร็จกฎหมายสมรสเท่าเทียมวันนี้ ถือเป็นการประกาศประวัติศาสตร์ความรักที่เท่าเทียมและยังเป็นการบันทึกความก้าวหน้าของประเทศไทยที่มีกฎหมายการสมรสเท่าเทียมแห่งแรกของอาเซียน และประเทศที่ 3 ของเอเชีย ส่งผลให้คนทั่วโลกรับทราบว่า รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศในสังคม และจะขับเคลื่อนการพัฒนาภาพลักษณ์ทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น LGBTQ+ Global Destination ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จากกฎหมายสมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย” และสถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งสิทธิการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย เป็นต้น ปัจจุบันนายทะเบียน 878 อำเภอทั่วประเทศ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร พร้อมอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม
ภาพจาก รัฐบาลไทย