เป็นเรื่องเป็นข่าว PPTV : วุ่นทั้งบาง เร่งสอบเสาไฟกินรี ราชาเทวะ
รายการเป็นเรื่องเป็นข่าววันนี้ นำเสนอประเด็นเรื่องโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมรูปกินรีที่ติดตั้งทั่วพื้นที่ อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ โดยใช้เงินไปแล้วกว่า 642 ล้านบาท โดยได้พูดคุยกับแขกรับเชิญ 2 ท่าน ได้แก่ คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ คุณทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ
วันนี้ TrueID จึงได้สรุปประเด็นจากรายการสด "เป็นเรื่องเป็นข่าว" มาฝากทุกคนกัน เพื่อตรวจสอบความจริงจาก อบต.ในพื้นที่ถึงเรื่องราวการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีและความเห็นจากอดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในการจัดทำงบประมาณในเรื่องนี้
ต้องการรับชมช่อง PPTV คลิกเลย!
“คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ระบุว่า ตนได้ตามเรื่องเสาไฟประติมากรรมมาตั้งแต่ ปี 2556 ซึ่งหน่วยงาน อบต.ราชาเทวะ นำไฟไปติดตั้งในที่เขตทางของหน่วยทางอื่น โดยไม่ได้ศึกษาเรื่องวิศวกรรมแนวทางความปลอดภัยในด้านไฟการจราจร ที่เป็นความรับผิดชอบของแขวงการทาง และการติดตั้งก็ไปซ้ำซ้อนกับปลายทางที่มีอยู่เดิม โดยใช้ความสวยงามของประติมากรรมเพิ่มเข้าไป เมื่อเทียบกับปัจจุบันก็ไม่ได้สวยงามตามสมัยนิยม
ส่วนงบประมาณการจัดทำเสาไฟสาธารณะ มีคู่มือการติดตั้งไฟทางสาธารณะซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ออกเกณฑ์การติดตั้งเสาไฟสาธารณะไว้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอบต.จะต้องทำตาม ไม่ใช่ออกแบบประติมากรรมตามแบบที่สนใจ แม้การทำประติมากรรมจะมาจากบล็อกแม่พิมพ์เดียว แต่เมื่อบวกราคาประติมากรรมก็เพิ่มงบประมาณได้มาก และเป็นการสิ้นเปลือง แต่ถ้าอยู่ในเส้นทางหลวง หรือมีนักท่องเที่ยวก็ควรติดตั้งได้ แต่การไปติดตั้งบริเวณพื้นที่ชาวบ้านอาศัยอาจไม่จำเป็น มองว่าไม่เหมาะสม ไม่ได้มาตรฐานตามการติดตั้งไฟสาธารณะ
นอกจากนั้นไฟประติมากรรมต่างๆ มีวัสดุ ลวดลายแตกต่างกัน สามารถตรวจสอบงบประมาณได้โดยวัดจากความเหมาะสมในการติดตั้ง และความสมเหตุสมผลในการพิจารณาที่จะต้องเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้ ถ้าไม่เติมประติมากรรมจะใช้งบเท่าไหร่ ค่าประติมากรรมจำเป็นต่อการติดตั้งหรือไม่ พร้อมยืนยันเสาไฟประติมากรรมทั้งหมดตรวจสอบได้แน่นอน
ขณะเดียวกัน “คุณทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ” ชี้แจงเหตุผลในการติดตั้งเสาไฟประติมากรรมว่าทำไมต้องเป็นรูปกินรี เนื่องจากในอดีต ในการจัดทำโครงการต่างๆในพื้นที่ นายก อบต. จะต้องทำประชาคมกับชาวบ้านก่อน และหลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาแผนและคณะกรรมการสนับสนุนแผน เพื่อนำความต้องการของชาวบ้านมาจัดทำโครงการและส่งต่อไปยังสภาบริหารตำบลเพื่อพิจารณา
ซึ่งในตอนนั้นชาวบ้านเป็นคนที่ต้องการอยากได้เสาไฟประติมากรรม และนายก อบต.ก็จัดทำตามแผนโครงการที่สภาฯ อนุมัติทั้งสิ้น ในช่วงที่ประชาคมสอบถามชาวบ้าน ว่าอยากได้เสาไฟเป็นสัญลักษณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม พอบรรจุเข้าโครงการ หน่วยงานการจัดซื้อจัดจ้างได้ตรวจสอบราคากลางแล้วโดยพิจารณาจากราคาวัสดุการทำเสาไฟ จากร้านค้าที่หลากหลายร้าน และเลือกราคาขายต่ำสุดมาเป็นราคากลางต่อต้น และการยื่นประมูลเป็นแบบ "อีบิดดิ้ง" เป็นระบบจากกระทรวงการคลังที่ทาง อบต. ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีใครบ้างที่เข้ามาเสนอราคา ราคาเท่าไหร่ จึงไม่สามารถตอบได้ถึงรายละเอียดงบประมาณทั้งหมด แต่ยืนยันว่าตรวจสอบได้จากกระทรวงการคลัง
สุดท้ายในประเด็นการติดตั้งเสาไฟบริเวณต่างๆที่โซเชียลมองว่าไม่เหมาะสม ทางนายก อบต. ได้ชี้แจงว่า เสาไฟที่อยู่จุดโพรงหญ้า ปัจจุบันเป็นทางเข้า-ออกของชาวบ้านในพื้นที่ มีการสัญจรจริงและใช้งานได้ ที่เห็นโพรงหญ้าขึ้นเพราะหน้าฝน แต่ตอนนี้ไม่มีหญ้ารกแล้ว เพราะมีการโจมตี อบต.ต้องเข้าไปดูแลพื้นที่ ส่วนจุดที่ยื่นเข้าไปในคลอง เป็นทางเท้าเรียบชายคลองสำหรับคนทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ที่เห็นเสาไฟยึดด้วยน็อตตัวเดียวอยู่เหนือคลอง ยืนยันว่าไม่ได้มีน็อตแค่ตัวเดียวและแข็งแรง ปลอดภัย นอกจากนั้นที่เห็นภาพโคนเสาไฟ เข้าไปในบ้านชาวบ้าน นายก อบต.บอกอีกว่า ชาวบ้านสร้างบ้านไม่ได้มีระยะร่นให้ถนน ทาง อบต.ยืนยันว่าติดตั้งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่ที่บ้านชิตเขตเสาไฟ เพราะได้เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างอบต.กับชาวบ้าน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรื้อบ้านออกตามกฎหมาย
สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่นี่
สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ได้ทางช่อง PPTVHD กด 36 ทางโซเชียลมีเดีย Facebook, IG, Twitter PPTV HD 36 หรือทางเว็บไซต์ www.pptvhd36.com