รีเซต

รพ.นพรัตนฯ ขออภัยผิดพลาดไม่รับตรวจโควิด จ่อเพิ่มเตียง-นำเข้าโมลนูพิราเวียร์ ต้นมี.ค.

รพ.นพรัตนฯ ขออภัยผิดพลาดไม่รับตรวจโควิด จ่อเพิ่มเตียง-นำเข้าโมลนูพิราเวียร์ ต้นมี.ค.
มติชน
22 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:10 )
65
รพ.นพรัตนฯ ขออภัยผิดพลาดไม่รับตรวจโควิด จ่อเพิ่มเตียง-นำเข้าโมลนูพิราเวียร์ ต้นมี.ค.

ข่าววันนี้ 22 กุมพาพันธ์ ที่โรงพยาบาล (รพ.) นพรัตนราชธานี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการ รพ.นพรัตนราชธานี แถลงชี้แจงกรณีมีข่าวเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียในวงกว้างเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19

 

นพ.เกีรยงไกร กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีผู้ป่วยรายหนึ่งอายุ 44 ปี อาชีพไรเดอร์ สิทธิบัตรทอง โดยมีชื่อ รพ.ในบัตรเป็น รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ที่มี รพ.นพรัตนฯ เป็นสถานพยาบาล รับ-ส่งต่อในระดับตติยภูมิ จากข่าวทางสื่อมวลชนแจ้งว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ช่วงเช้ามีอาการไข้ และช่วงเย็นได้ไอเป็นลิ่มเลือด จึงได้ไปซื้อชุดตรวจ ATK แล้วผลออกมาเป็นบวก ทำให้ไม่ได้กลับบ้านเนื่องจากจะติดคนในครอบครัว จึงได้ไปอาศัยนอนข้างถนน ต่อมาวันอาทิตย์ได้เดินทางไปที่ รพ.นพรัตนฯ เพื่อรับการตรวจ และได้ติดต่อกับพยาบาลคัดกรอง พร้อมกับนำผล ATK เป็นบวก และเล่าอาการดังกล่าวให้แก่พยาบาลคัดกรองทราบแล้ว พยาบาลคัดกรองได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าวันนี้เป็นวันหยุดราชการ ขอให้มาใหม่ในวันจันทร์ ต้องมารับคิว ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 น. เป็นต้นไป

 

นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า รพ.นพรัตนฯ ขอชี้แจงเกี่ยวกับข่าวดังนี้ รพ.นพรัตนฯ ให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 โดยรักษาเป็นผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการหนัก และให้บริการผู้ป่วยนอก AR Cinic เฉพาะวัน เวลาราชการ และ Home Isolation (HI) รวมทั้งให้บริการที่ศูนย์พักคอยอีก 2 แห่ง ที่ศูนย์พักคอยชีพี-รามคำแหง-รพ.นพรัตนฯ และศูนย์พักคอยเราต้องรอด เขตคันนายาว กรณีผู้ป่วยรายดังกล่าวมารับบริการ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในช่วงเช้าวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงแนะนำให้กลับบ้าน และปฏิบัติตัวตามมาตรการทางการแพทย์ และให้มาตรวจซ้ำในเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งผู้ป่วยได้มาตามที่แนะนำ แต่เนื่องจากมีผู้รับบริการเป็นจำนวนมากทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร

 

“ดังนั้น รพ.นพรัตนฯ จึงขออภัยในข้อผิดพลาดดังกล่าว โดยคณะผู้บริหาร รพ. ทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน จึงแก้ไขปัญหารองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยจะเพิ่มการให้บริการตรวจคัดกรองโควิด-19 ในวันหยุดราชการ ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 และขอบพระคุณสำหรับข้อร้องเรียนซึ่งมีประโยชน์ในการปรับปรุงการบริการครั้งต่อไป” นพ.เกรียงไกร กล่าว

 

ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า AR Clinic หรือคลินิกทางเดินหายใจ เดิมเปิดวันจันทร์ – วันศุกร์ แต่วันเสาร์ -อาทิตย์ ไม่ได้เปิด เนื่องจากต้องให้เจ้าหน้าที่พักผ่อน

 

“เรียนตรงๆ ว่า เราก็เป็นห่วงเจ้าหน้าที่เหมือนกัน คนไข้มาวันอาทิตย์ ณ จุดนั้น คนไข้ยังไม่ได้ตรวจและกลับไป และเดินทางไปตรวจที่คลินิกแห่งหนึ่ง โดยหลักการแล้ว เมื่อผลตรวจ ATK เป็นบวก จะต้องโทรหาสายด่วน 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบ HI หรือ CI โดยไม่ต้องไป รพ.ซ้ำ ซึ่งไม่แน่ใจว่าคนไข้โทรศัพท์ไปหรือไม่ แต่ในเช้าวันต่อมาที่คิวเต็มนั้น เป็นการผิดพลาดทางการสื่อสารจริงๆ เนื่องจากผู้ป่วยมาก สะสมมาหลายวัน และที่นี่จะรับผู้ป่วยปริมาณ 120-150 รายต่อวัน ซึ่งทางทีมเส้นด้ายที่ติดต่อไปยัง รพ.ว่าจะมา และที่ รพ.ก็เตรียมรับอยู่ และเตรียมวอร์ดเผื่อไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าคนไข้ยังไม่มา ณ ตอนนี้ ที่ได้ข้อมูลคือ คนไข้ไปนอนฮอสปิเทล ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ถ้าสันนิฐานไว้ก่อน แปลว่าคนไข้คงมีอาการไม่มากนัก ถึงได้นอนฮอสปิเทล แต่จริงๆ ทาง รพ.เตรียมวอร์ดไว้รองรับผู้ป่วยรายนี้แล้ว และทางศูนย์เอราวัณ ก็เตรียมจะพาเข้า CI อย่างไรก็ตาม ขอย้ำอีกครั้งว่า หากตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองแล้วพบว่าติดเชื้อ ให้ติดต่อไปยังสายด่วน 1330 หรือ แอดไลน์ ทิ้งข้อมูลไว้จะมีคนติดต่อกลับ เพราะที่ รพ.เตียงเริ่มตึง แต่ยังพอมี และกำลังเตรียมแผนขยายเตียงเพิ่มเติม” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพรวมเตียงในขณะนี้ถือว่าตึงมาก หรือยังมีพอรับรองผู้ป่วยหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปริมาณการครองเตียงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ในภาพรวม แต่บาง รพ.จะเต็ม เช่น รพ.เด็ก บางวันจะครองเตียงร้อยละ 80-90 และใช้วิธีการหมุน อยู่ รพ.ประมาณ 2-3 วัน พออาการคงที่ ก็ขอให้กลับไป HI เพื่อจะรับคนใหม่เข้ามา เท่าที่ดูตัวเลข

 

“โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา เตียงสีแดงและสีเหลืองจะเหลือ แต่สีเขียวมีวันหนึ่งที่ขึ้นไปถึงร้อยละ 100 ก็เข้าใจว่าประชาชนอยากนอนรพ.มากกว่า แต่ก็ขอวิงวอนประชาชนสำรองเตียงใน รพ.ให้สำหรับคนที่จำเป็นต้องนอน เช่น ผู้ที่มีโรคร่วมที่ควบคุมไม่ได้ อย่างโรคหัวใจ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วเตียงยังพอมี แต่อาจจะตึงเป็นบาง รพ.” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

 

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องยาแพ็กซ์โลวิด และยาโมลนูพิราเวียร์ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ ขณะนี้ที่ได้หารือกับบริษัทผลิต ทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเข้ามาประมาณต้นเดือนหน้า ขณะนี้รอการจัดส่งของบริษัท ส่วนยาแพ็กซ์โลวิด ยังอยู่ในกระบวนการที่อัยการสูงสุดพิจารณา เพราะว่าสัญญาของทั้ง 2 บริษัท แตกต่างกัน และค่อนข้างจะมีรายละเอียดมาก แต่เท่าที่หารือกับบริษัท ถ้าผ่านทั้งหมด ก็ให้คำมั่นกับว่าจะเข้ามาในไตรมาสแรก ซึ่งก็ไม่เกินปลายเดือนมีนาคมนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง