รีเซต

สัญญาณวิกฤตประกันภัยล้ม เอฟเฟกแรงแผนเจอจ่ายจบ

สัญญาณวิกฤตประกันภัยล้ม เอฟเฟกแรงแผนเจอจ่ายจบ
ทันหุ้น
18 พฤศจิกายน 2564 ( 18:53 )
158

ทันหุ้น-สมาคมประกันวินาศภัย ส่งสัญญาณมีบริษัทประกันภัยอยู่ในภาวะวิกฤติ จากเคลม “เจอจ่ายจบ” ทำให้ต้องหารือกับหน่วยงานกำกับเพื่อพิจาณา ประเด็น การใช้สิทธิยกเลิกความคุ้มครอง เพราะคาดว่าผลกระทบจากการปิดธุรกิจอาจลามกระทบต่อผู้ประกอบการรายอื่นทั้งอู้คู่สัญญา โรงพยาบาล นายหน้าประกันภัยเป็นต้น พร้อมย้ำ เคลมทะลุ 4 หมื่นล้านบาทแน่นอน

 

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การให้หน่วยงานกำกับพิจารณาทบทวนเรื่อง “สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย” ในแผนประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ไม่ได้แปลว่าบริษัทประกันวินาศภัยทั้ง 6 รายที่ขายประกันแผนนี้จะทำการยกเลิกความคุ้มครองกับลูกค้าทั้งหมด เพราะภายใต้เงื่อนไขขอการยกเลิก ก็ต้องอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอกับหน่วยงานกำกับ คปภ. หรือ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

 

เกณฑ์บอกเลิกกรมธรรม์

โดยเงื่อนไขที่เสนอไป ก่อนใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ จะต้องเข้าเกณฑ์ 1. มีอัตราความเสียหายจากการรับประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือมีค่าสินไหมทดแทนจากประกันโควิด-19 ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัยโควิด-19เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินกองทุน

 

“ผมไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีบริษัทไหนขอใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ได้รู้ว่าทั้ง 16 บริษัทที่ขาย เจอ จ่าย จบ แต่ละรายมีเบี้ย และค่าสินไหมอยู่ที่เท่าไร แต่รู้ในภาพรวมว่าปัจจุบันจ่ายสินไหมไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับ เอเชียประกันภัยที่ปิดไปแล้ว สินไหม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท”

 

นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นด้วยกับการที่บริษัทประกันภัยจะยกเลิกความคุ้มครอง ซึ่งสมาคมก็มีการออกตัวชัดว่าไม่สนับสนุนให้ยกเลิกความคุ้มครองในแผนเจอจ่ายจบ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ผ่านมา ยังได้ประเมินว่ายอดเคลมสินไหมในภาพรวมจะแตะ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่ภาคธุรกิจรับไหว แต่ไม่ใช่สำหรับทุกบริษัท

 

“จริงอยู่ที่ทุกบริษัทต้องประเมินสถานะตัวเองในการรับความเสี่ยง แต่อย่าลืมว่า โควิด-19 เป็นโรคอุบัติไหม การแพร่ระบาดที่ไม่เหมือนไข้หวัดสเปน ไม่มีสถิติตัวเลขมาเทียบเคียงความเสียหาย โดยเฉพาะประเด็นของการกลายพันธ์จากอู่ฮั่น ไปเดลต้า ที่ทำให้เชื้อโรคระบาดได้เร็วและง่ายขึ้น ไม่ได้อยู่ในความเสี่ยงที่บริษัทประเมินไว้แต่ต้น อย่างที่กล่าวเพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีสถานการณ์ใดเทียบเคียง”

 

การกลายพันธ์ของโควิด-19ที่ไม่ได้อยู่ในการประเมินความเสี่ยงของแผน เจอจ่ายจบ จึงทำให้มีบริษัทประกันภัยหลายแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ไม่ใช่ทุกบริษัท ซึ่ง นายอานนท์ บอกว่า เพราะแต่ละบริษัทมีพอร์ตงานรับประกันภัยที่แตกต่างกัน และแต่ละพอร์ตก็สร้างรายได้ และกำไรที่แตกต่างกัน ดังนั้น กำไรที่บางส่วนต้องมาเก็บเป็นทุนสำรองตามหลักบริหารความเสี่ยง ก็จะมีมากน้อยแตกต่างกัน และบางบริษัทที่เก็บทุนสำรองมานานนับหลายสิบปีก็หมดไปกับเคลม เจอจ่ายจบ ในปีนี้ปีเดียว และนั่นคือเหตุผลที่ สมาคมประกันวินาศภัย ออกมายื่นข้อเสนอให้กับหน่วยงานกำกับพิจารณาในประเด็นขอยกเลิกกรมธรรม์เจอจ่ายจบ เพื่อปกป้องไม่ให้บริษัทประกันภัยต้องล้มอีก

 

ยอดเคลมทะลุ 40,000ล้านบ.

ทั้งนี้จาก สถิติ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัย COVID-19 มีจำนวนกว่า 37,000 ล้านบาท ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันรวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่

 

ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด (ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้น อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก) และอาจเพิ่มสูงถึง 60%-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

นายอานนท์ กล่าวต่อไปว่า เงินที่บริษัทประกันภัยใช้ในการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่นั้น มาจากเบี้ยประกันภัยจากการรับประกันภัยทุกประเภทซึ่งให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยทุกประเภทกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ หากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยโควิด-19 ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยต้องมีการปิดกิจการเพิ่มอีก ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยในวงกว้าง และกองทุนประกันวินาศภัยคงไม่สามารถรับภาระในการชดเชยค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดได้

 

หากฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยใดไม่สามารถรองรับความเสี่ยงได้อีกในอนาคต และจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความจำเป็นและเป็นการบริหารความเสี่ยงที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ ต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต

 

นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการลง ก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัยซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ตัวแทน นายหน้า พนักงาน และเจ้าหนี้ประเภทอื่นๆ ของบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยจึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจดังกล่าวในอนาคตเพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยไว้

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง