รีเซต

แอปฯ เพลง ดีเซอร์ เปิดตัวระบบตรวจลบเพลงจาก AI

แอปฯ เพลง ดีเซอร์ เปิดตัวระบบตรวจลบเพลงจาก AI
TNN ช่อง16
7 มิถุนายน 2566 ( 17:23 )
98

ระบบตรวจจับเพลงทำงานอย่างไร ?


ดีเซอร์อธิบายว่าระบบใหม่นี้จะตรวจจับว่าเพลงไหนสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ โดยเริ่มจากตรวจจับว่าเพลงใดมีการใช้เสียงสังเคราะห์ของศิลปินนักร้องที่มีตัวตนอยู่จริงก่อน จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลไปยังค่ายเพลง ศิลปิน และผู้ถือครองลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องตัดสินใจว่าจัดการเพลงจากปัญญาประดิษฐ์ต่ออย่างไร


ระบบตรวจจับเพลงแบบใหม่ของดีเซอร์นั้นอาศัยปัญญาประดิษฐ์ และระบบที่ทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Machine learning) ในการตรวจจับและแยกแยะเพลงในระบบ


โดยระบบที่ทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ หากอธิบายง่าย ๆ ก็คือสมองของปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง ซึ่งระบบนี้ทำให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยการป้อนคำสั่งจากมนุษย์

ดีเซอร์ยืนยันไม่ได้ต่อต้านเพลงจาก AI 

เจโรนิโม โฟลกูเอรา (Jeronimo Folgueira) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีเซอร์ อธิบายว่า “ระบบตรวจจับเพลงของดีเซอร์เป็นการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในทางที่ดี” เพราะในแต่ละวันมีเพลงมากกว่า 100,000 เพลงอัปโหลดมายังดีเซอร์ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้มนุษย์เป็นคนตรวจสอบเนื้อหาดังกล่าว โดยดีเซอร์ระบุว่าปัจจุบันมีการอัปโหลดเพลงที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มากนัก แต่ดีเซอร์คาดว่าภายใน 6 ถึง 9 เดือน จะมีเพลงที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์จำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


โฟลกูเอรายืนยันว่าดีเซอร์ไม่ได้ต่อต้านเพลงที่สร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ตราบใดที่มันอยู่บนบรรทัดฐานจริยธรรม เพราะตัวเขาเองก็อยากได้ยินเสียงวิตนีย์ ฮิวสตัน (Whitney Houston) กลับมาโลดแล่นในวงการเพลงอีกครั้งจากปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน


“แต่เราต้องมั่นใจว่าอุตสาหกรรมเพลงจะนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในทางที่ถูกต้องทั้งในด้านกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา และศิลปินต้องได้ค่าตอบแทนที่ยุติธรรมเช่นกัน” โฟลกูเอราเน้นย้ำ นอกจากนี้เขาเห็นว่าเพลงที่เลียนเสียงศิลปินนักร้องชื่อดังอาจทำให้เกิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก มากขึ้น


แต่ค่ายเพลงไม่เห็นด้วยกับเพลงจาก AI 


เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่ายเพลงใหญ่ที่สุดในโลก ยูนิเวอร์แซล มิวสิค (Universal Music) ได้ยื่นคำร้องให้แพลตฟอร์มสตรีมเมอร์เพลงลบเพลง “Heart On My Sleeve” ซึ่งเป็นเพลงสร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์เลียนเสียงศิลปินชื่อดังในค่ายสองรายอย่าง เดรก (Drake) และ เดอะวีกเอนด์ (The Weeknd)



The Weeknd ภาพจาก BBC

 

 

  • โดยทางค่ายแถลงว่า “การป้อนชุดข้อมูลเพลงศิลปินในค่ายยูนิเวอร์แซล มิวสิค ให้ปัญญาประดิษฐ์ (Generative AI) ถือเป็นการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์” อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้นการสร้างเพลงด้วยปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นเรื่องที่ยังคลุมเครืออยู่ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่


ทางด้านศิลปินเสียงแตกเป็นสองฝั่ง


  • เนื่องจากระยะหลังมานี้ มีเพลงสังเคราะห์จากปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ศิลปินนักร้องจะเกิดความกังวลว่าปัญญาประดิษฐ์จะ ‘ขโมยงาน’ ของตน นอกจากนี้ วงดนตรีชื่อดัง สติง (Sting) ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า กระแสดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าใครจะเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์เพลงเลียนเสียงศิลปินที่สังเคราะห์จากปัญญาประดิษฐ์ 

  • ทว่า ไกรมส์ (Grimes) ศิลปินและนักแต่งเพลงชาวแคนาดา กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป ทั้งยังสนับสนุนและอนุญาตให้ทุกคนใช้ ‘เสียง’ ของเธอไปใช้กับปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเสรี

  


Grimes ภาพจาก BBC

 

 


ปัญหาใหญ่คือส่วนแบ่งรายได้จากเพลง


  • นอกจากข้อกังวลด้านกฎหมายและจริยธรรม อัตราการแบ่งค่าตอบแทนให้แก่ศิลปินและค่ายเพลงนับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องจับตามอง เพราะในปัจจุบันบริการสตรีมมิงเพลง จะจ่ายค่าตอบแทนให้กับศิลปินและค่ายเพลงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่ผู้ใช้ฟังเพลงเป็นหลัก 

  • หากเพลงเลียนเสียงศิลปินที่สังเคราะห์มาจากปัญญาประดิษฐ์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครจะได้ประโยชน์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงบ้าง แล้วส่วนแบ่งรายได้จะเป็นอย่างไร และปัญหาดังกล่าวยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ดีเซอร์จึงจับมือกับค่ายเพลง ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ร่วมกันหารือเพื่อปรับเปลี่ยนอัตราส่วนแบ่งรายจากบริการสตรีมมิงเพลง เพื่อให้ศิลปิน ค่ายเพลง และผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น 

  • ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ กำลังพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด และปัญญาประดิษฐ์คงจะมีบทบาทในอุตสาหกรรมดนตรีและงานสร้างสรรค์อื่น ๆ มากขึ้นเช่นกัน ตัวปัญญาประดิษฐ์เองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้งานจะนำปัญญาประดิษฐ์มาทำอะไร ส่วนในอนาคต ภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ จะออกมาตรการมาตามทันปัญญาประดิษฐ์ได้หรือไม่ ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ต้องติดตามกันต่อไป


ที่มาข้อมูล BBC

ที่มาภาพ Deezer

ข่าวที่เกี่ยวข้อง