รีเซต

ยาน Parket Solar Probe ส่งข้อมูลกลับโลกครั้งแรกหลังทำลายสถิติเข้าใกล้ดวงอาทิตย์

ยาน Parket Solar Probe ส่งข้อมูลกลับโลกครั้งแรกหลังทำลายสถิติเข้าใกล้ดวงอาทิตย์
TNN ช่อง16
3 มกราคม 2568 ( 11:50 )
32

วันพุธที่ 1 มกราคม ศูนย์ควบคุมภารกิจของห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (JHUAPL) ในรัฐแมริแลนด์ ได้รับข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe ของนาซาเป็นครั้งแรก หลังการทำสถิติเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะที่ไม่เคยมียานใดทำได้มาก่อน ข้อมูลดังกล่าวยืนยันว่า ระบบต่าง ๆ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ของยานยังคง "ทำงานได้ดี และทำงานได้ตามปกติ" ซึ่งนาซาได้เปิดเผยในการอัปเดตเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา


ไมเคิล บัคลีย์ (Michael Buckley) โฆษกของห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (JHUAPL) กล่าวว่า "ทุกอย่างดูดีมากสำหรับระบบยานอวกาศและการปฏิบัติการเครื่องมือ นี่เป็นยานอวกาศที่น่าทึ่งจริง ๆ!" ยานยังคงส่งข้อมูลกลับมายังโลกอย่างต่อเนื่องผ่านเครือข่ายอวกาศลึกของนาซา ซึ่งการถ่ายโอนข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่รวบรวมไว้ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในปลายเดือนนี้ เมื่อยานอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดกับโลก


ในระหว่างการบินผ่านดวงอาทิตย์ครั้งล่าสุด ยาน Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะ 3.8 ล้านไมล์ หรือประมาณ 6.1 ล้านกิโลเมตร และเดินทางด้วยความเร็วสูงสุด 430,000 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 690,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วสูงสุดที่มนุษย์เคยสร้างวัตถุให้เคลื่อนที่ได้ ยานใช้แผ่นเกราะกันความร้อนหนา 4.5 นิ้ว ทนต่ออุณหภูมิสูงถึง 1,800 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 982 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถอยู่รอดจากความร้อนรุนแรงได้สำเร็จ


เฮเลน วินเทอร์ส (Helene Winters) ผู้จัดการโครงการ Parker Solar Probe กล่าวในแถลงการณ์ว่า "แม้ว่ายานจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่มันยังคงทำงานตามการออกแบบและเก็บข้อมูลในลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน"


นักวิทยาศาสตร์คาดว่าข้อมูลที่รวบรวมได้จะช่วยคลี่คลายปริศนาเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ เช่น สาเหตุที่ทำให้ชั้นบรรยากาศโคโรนาของดวงอาทิตย์ร้อนกว่าพื้นผิวหลายร้อยเท่า เคลลี่ คอร์เร็ค (Kelly Korreck) นักฟิสิกส์สุริยะจากนาซา กล่าวเสริมว่า "ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อชุมชนวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้ดียิ่งขึ้น"


สำหรับยาน Parker Solar Probe ถูกพัฒนาขึ้นโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ยานออกเดินทางขึ้นจากโลกในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 มีกำหนดการทำภารกิจนาน 7 ปี โดยหลังจากนี้ยานมีกำหนดการบินผ่านดวงอาทิตย์อีกสองครั้งในปี 2025 โดยการพบปะจะมีความเร็วและระยะทางที่ใกล้เคียงกันในวันที่ 22 มีนาคม และ 19 มิถุนายน ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญของการสำรวจดวงอาทิตย์ในอนาคต


ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ NASA/Johns Hopkins APL/Steve Gribben

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง