รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 เม.ย.2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 เม.ย.2565)
NewsReporter
13 เมษายน 2565 ( 08:50 )
424

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดหลายชาติในยุโรปกำลังเร่งส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับยูเครนตามที่ผู้นำยูเครนร้องขอ เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ยังคงเดินหน้าบุกโจมตียูเครน และหวังว่านโยบายนี้ จะเปลี่ยนแนวทางการตัดสินใจทำสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (12 เม.ย.2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (13 เม.ย.2565)

 

ปูตินกร้าวลุยศึกยูเครนต่อ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ประกาศเมื่อวันที่ 12 เมษายน ว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย พร้อมกับยืนยันว่าปฎิบัติการของรัสเซียเป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

ปูตินยืนยันว่าการบุกรุกยูเครนของเขามีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และเพื่อรับประกันความปลอดภัยของรัสเซียเอง

 

ปูตินย้ำว่ารัสเซียไม่มีทางเลือกอื่น เว้นแต่จะดำเนินการปฎิบัติการพิเศษทางทหาร พร้อมให้คำมั่นว่าปฏิบัติการนี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ และบรรลุภารกิจที่กำหนดไว้

 

ขณะนี้กองกำลังรัสเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีครั้งใหญ่ในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นตัวชี้ขาดผลของสงครามและการสู้รบในครั้งนี้ หลังจากที่รัสเซียได้ถอนทหารออกจากกรุงเคียฟและพื้นที่โดยรอบ เมื่อเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักโดยยูเครน จนทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ไปแล้ว

 

ข้อมูล : มติชน

 

ชาติยุโรปเปลี่ยนนโยบาย เน้นส่งอาวุธให้ยูเครน

หลายชาติในยุโรปกำลังเร่งส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับยูเครนตามที่ผู้นำยูเครนร้องขอ เพื่อตอบโต้รัสเซียที่ยังคงเดินหน้าบุกโจมตียูเครน และหวังว่านโยบายนี้ จะเปลี่ยนแนวทางการตัดสินใจทำสงครามของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
 
 
ผ่านมาแล้ว 6 สัปดาห์ที่บรรดาชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร ปูพรมมาตรการคว่ำบาตรนานาชนิดเข้าใส่รัสเซียที่ทำสงครามโจมตียูเครน รวมถึงมาตรการแบนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทำให้รัสเซียสะดุ้งสะเทือน ขณะที่การเจรจาหยุดยิงระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ยังไม่บรรลุผลเป็นรูปธรรม ทำให้ตอนนี้ ชาติพันธมิตรในยุโรปเตรียมหันมาส่งอาวุธให้กับยูเครนเพิ่มเพื่อใช้รับมือรัสเซีย
 
 
แม้ที่ผ่านมา แม้ชาติตะวันตกจะรับปากส่งอาวุธไปให้เพิ่มเติม แต่ยูเครนต้องการมากกว่านั้น ยูเครนระบุว่า ต้องการรถถัง เครื่องบินรบ โดรน และระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อรับมือกับการที่รัสเซียเพิ่มการโจมตีทางอากาศ โดยใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลในการถล่มคลังเชื้อเพลิง และสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของยูเครน
 
 
ข้อเรียกร้องเพิ่มเติมของยูเครน ทำให้ชาติในสหภาพยุโรป หรือ EU รู้สึกว่าในระยะสั้น พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทหารในการรับมือหรือสร้างความเสียหายให้แก่กองทัพรัสเซียมากขึ้น เพราะการทำสงครามในสนามรบย่อมมีแพ้มีชนะ หากยูเครนไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็คงไม่สามารถรับมือการบุกโจมตีของรัสเซียได้ โดยเฉพาะในตอนนี้ ที่รัสเซียเตรียมเสริมกำลังเพิ่งบุกภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครนแบบเต็มสูบ
 
 
ทั้งนี้ EU ได้เห็นชอบสนับสนุนข้อเสนอหนึ่งสำหรับเพิ่มงบประมาณในการจัดหาอาวุธมอบแก่ยูเครน อีก 500 ล้านยูโร หรือราว 1.82 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ยอดรวมเพิ่มเป็น 1,500 ล้านยูโร หรือราว 5.48 หมื่นล้านบาท และเมื่อต้นสัปดาห์ EU ได้เห็นชอบมาตรการคว่ำบาตรห้ามนำเข้าถ่านหินของรัสเซีย และปิดท่าเรือต่าง ๆ ไม่ต้อนรับเรือรัสเซีย ลงโทษต่อกรณีรุกรานยูเครน รวมไปถึงการแบนส่งสินค้าออกไปยังรัสเซีย มูลค่า 10,000 ล้านยูโร หรือราว 3.65 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้รวมถึงสินค้าไฮเทคทั้งหลาย และอายัดทรัพย์สินของธนาคารหลายแห่งของรัสเซีย
 
 
อย่างไรก็ดี ความพยายามลงโทษรัสเซียที่ผ่านมา ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะรัสเซียยังคงทำเงินได้จากการจำหน่ายน้ำมันและพลังงานให้กับหลายประเทศใน EU ที่ยอมรับว่าไม่สามารถลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียได้แบบทันทีทันใด ขณะที่คำสั่งห้ามซื้อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินจากรัสเซีย ก็ต้องใช้ระยะเวลาอีก 3-4 เดือนกว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนี้ รัสเซียก็สามารถใช้สรรพกำลังที่มีอยู่ เดินหน้าถล่มยูเครนได้อีกหลายดอก
 
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ชาติในยุโรปทำได้ในตอนนี้ คือจำเป็นต้องสนับสนุนด้านอาวุธเพิ่มให้กับยูเครน ตามที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ร้องขอ เพื่อหวังให้ยูเครนต้านทานรัสเซียเอาไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยก็จนกว่ามาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ นานาที่ EU ประเคนให้กับรัสเซียจะเริ่มส่งผลให้ประธานาธิบดีปูตินต้องหันมาทบทวนเรื่องการบุกยูเครน
 
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำหลายประเทศในอียูยังคงกังวล คือประเด็นเรื่องของอาวุธที่จัดส่งให้ยูเครน ว่าในท้ายที่สุดแล้ว อาวุธต่าง ๆ เหล่านั้นจะไปอยู่ที่ไหนและอยู่ในมือของใคร เพราะกองทัพยูเครนยังมีการบริหารจัดการที่ยังไม่เป็นมืออาชีพมากพอ อีกทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอาวุธรุ่นใหม่ไฮเทคที่ถูกส่งไป ก็จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนการใช้งานก่อน ทำให้ยูเครนอาจไม่มีเวลามากพอใจการฝึกใช้งานอาวุธเหล่านี้ ทันเวลาที่ทหารรัสเซียจะกรีฑาทัพใหญ่บุกเข้าถล่มพื้นที่ภาคตะวันออกในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

ข้อมูล : TNN World

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง