รีเซต

วิจัยพบ 'ชาวออสฯ พื้นเมือง' วัยเกิน 45 ครึ่งหนึ่ง ดับเพราะ 'บุหรี่'

วิจัยพบ 'ชาวออสฯ พื้นเมือง' วัยเกิน 45 ครึ่งหนึ่ง ดับเพราะ 'บุหรี่'
Xinhua
25 มกราคม 2564 ( 16:36 )
70

แคนเบอร์รา, 25 ม.ค. (ซินหัว) -- งานวิจัยที่เผยแพร่โดยคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ครึ่งหนึ่งของชาวออสเตรเลียพื้นเมืองที่มีอายุมากกว่า 45 ปี เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่

 

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (25 ม.ค.) พบว่า ในชาวออสเตรเลียพื้นเมืองกลุ่มอะบอริจิน (Aboriginal) และเกาะทอร์เรสสเตรท (Torres Strait Islander) การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึงร้อยละ 37 และสัดส่วนนี้เพิ่มแตะราวร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี โดยชาวออสเตรเลียพื้นเมืองที่สูบบุหรี่เสียชีวิตเร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เฉลี่ยถึง 10 ปี

 

"เราตกใจกับผลลัพธ์ดังกล่าวมาก การสูบบุหรี่กำลังคร่าชีวิตผู้สูงอายุ 1 ใน 2 และเราพบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่" เคธี เทอร์เบอร์ ผู้นำวิจัยกล่าว "ตัวเลขดังกล่าวต่างจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้เกือบ 2 เท่า" อย่างไรก็ดี ในปี 2019 ชาวพื้นเมืองวัยผู้ใหญ่ที่ระบุว่าตนสูบบุหรี่ อยู่ที่ราวร้อยละ 40 ลดลงจากยอดร้อยละ 54.5 ในปี 1994

 

เรย์มอนด์ โรเวตต์ ชายชาวพื้นเมืองและผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่าอัตราการสูบบุหรี่ในระดับสูงสามารถย้อนกลับไปถึงวิถีปฏิบัติในยุคล่าอาณานิคม ที่ต้องมีการจ่ายค่าจ้างให้กับคนงานพื้นเมือง ซึ่งรวมถึงการจ่ายด้วยยาสูบ "ถ้าคุณทำงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท คุณจะได้รับค่าจ้างเป็นยาสูบ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่อยู่ในระดับสูงมาก" เขาเผย

 

"เหตุผลข้างต้นยังได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ดำเนินการด้านบริการสุขภาพชุมชนในชุมชนพื้นเมืองต่างๆ เราพูดถึงยาสูบในฐานะกระบวนการล่าอาณานิคม เราเชื่อมโยงยาสูบเข้ากับกระบวนการล่าอาณานิคมเหล่านั้น เพราะบางคนลืมนึกถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนหนุ่มสาว" 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง