รีเซต

จีนเล็งบูรณะ 'พระพุทธรูปแกะสลักริมผา' ใหญ่สุดในโลกอีกครั้ง

จีนเล็งบูรณะ 'พระพุทธรูปแกะสลักริมผา' ใหญ่สุดในโลกอีกครั้ง
Xinhua
11 มกราคม 2565 ( 17:59 )
238
จีนเล็งบูรณะ 'พระพุทธรูปแกะสลักริมผา' ใหญ่สุดในโลกอีกครั้ง

เฉิงตู, 11 ม.ค. (ซินหัว) -- คณะผู้เชี่ยวชาญของจีนเปิดเผยว่าพระใหญ่เล่อซาน พระพุทธรูปแกะสลักริมผาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความสูง 71 เมตร และตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกันนอกตัวเมืองเล่อซาน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จำเป็นต้องได้รับการบูรณะอีกครั้ง

 

พื้นที่ส่วนจมูกและใบหน้าของพระใหญ่เล่อซานมีร่องรอยดำและสกปรก ขณะส่วนหน้าอก ท้อง มือ และขาบางจุดปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำและพืชอื่นๆ แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเมื่อครั้งผ่านการบูรณะใหญ่ในเดือนเมษายน 2019 ซึ่งเป็นงานบูรณะขนานใหญ่ครั้งที่ 7 ในรอบร้อยปี

 

เมืองเล่อซานจัดงานสัมมนาหารือแผนการบูรณะพระพุทธรูปยักษ์องค์ดังกล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้เหล่าผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจแก้ไขต้นเหตุความเสื่อมโทรมแทนการปรับปรุงโฉมนอก เพื่อให้รูปแกะสลักนี้ตั้งตระหง่านสง่างามอีกนานหลายปี

 

จานฉางฝ่า อดีตรองประธานสถาบันมรดกวัฒนธรรมจีน (CACH) กล่าวว่างานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางบูรณะครั้งสำคัญ โดยหันมาแก้ปัญหาที่ต้นตอเพิ่มเติม จากเดิมที่ให้ความสำคัญเฉพาะปลายเหตุ

 

คณะผู้เชี่ยวชาญพบว่าความเสียหายจากน้ำ ฝน และความชื้น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พระใหญ่เล่อซานเสื่อมโทรมมากที่สุด โดยหวงเค่อจง นักวิจัยจากสถาบันฯ เผยผ่านระบบวิดีโอจากกรุงปักกิ่งว่าก่อนอื่นเราต้องแก้ไขปัญหาความเสียหายจากน้ำ ไม่เช่นนั้นการปรับปรุงรูปแกะสลักจะช่วยระงับปัญหาได้แค่ชั่วคราว

 

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นต่างเห็นพ้องว่าต้องดำเนินมาตรการหลากหลายเพื่อจัดการความเสียหายจากน้ำ ซึ่งครอบคลุมการสำรวจทางธรณีวิทยา การติดตามและประเมินผล การวิจัยวัสดุ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนั้นจานตั้งคำถามสำหรับการวางแผนอย่างเป็นระบบและแก้ปัญหาทีละขั้นตอน อาทิ รอยแตกภายในอยู่ที่ใด จะรับมือสภาพดินฟ้าอากาศอย่างไร วัสดุแบบไหนนำไปซ่อมแซมได้ดีกว่า  ควรสร้างกันสาดหรือไม่ และจะจำกัดจำนวนผู้เข้าชมหรือไม่

 

จานเสริมว่าเมื่อพิจารณาสภาพทางธรรมชาติและภูมิศาสตร์ ณ จุดที่ตั้งของพระพุทธรูป แผนบูรณะข้างต้นมีเป้าหมายทำให้พระใหญ่องค์นี้ "แข็งแกร่งขึ้น ทรุดโทรมน้อยลง และตั้งตระหง่านอย่างยั่งยืน"

 

ด้านหวังอี้ หัวหน้าสำนักบริหารมรดกวัฒนธรรมซื่อชวน ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศจะให้ความร่วมมือเชิงลึกและผสานสารพัดองค์ความรู้เพื่อปกป้องพระพุทธรูปยักษ์องค์นี้

 

ทั้งนี้ พระใหญ่เล่อซาน ซึ่งเริ่มสร้างในปี 713 สมัยราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) และใช้เวลาแกะสลักกว่า 90 ปี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 1996

ข่าวที่เกี่ยวข้อง