รีเซต

การรักษาความปลอดภัยนักการเมือง ทางสองแพร่งที่ทั่วโลกเผชิญ

การรักษาความปลอดภัยนักการเมือง ทางสองแพร่งที่ทั่วโลกเผชิญ
TNN ช่อง16
18 ตุลาคม 2564 ( 08:46 )
36
การรักษาความปลอดภัยนักการเมือง ทางสองแพร่งที่ทั่วโลกเผชิญ

แต่ทางการอังกฤษก็ส่งสัญญาณว่า สังคมจะเปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยต่อไป โดยไม่ยอมให้บุคคลใดข่มขู่ ผู้คนผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนต้องสามารถเข้าถึงนักการเมืองเพื่อส่งต่อปัญหาหรือความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ได้


แต่ ปรีติ ปาเตล รัฐมนตรีมหาดไทยสั่งการตำรวจทั่วประเทศ ทบทวนมาตรการอารักขา ส.ส.ทั้ง 650 คน ขณะที่ลินด์ซีย์ ฮอยล์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับปากว่า จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมตามที่จำเป็น


คำถามคือ จะต้องทำยังไง คุณถึงจะเปิดกว้างให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็ยังสามารถดูแลความปลอดภัยของตัวเองได้ไปพร้อม ๆ กัน ?


ลองไปติดตามนักการเมืองระดับแนวหน้าของประเทศต่าง ๆ หาทางรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง


◾◾◾

🔴 บราซิล


บราซิลเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ แน่นอนว่ามุมมองทางการเมืองย่อมแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และภูมิรัฐศาสตร์ โดยในพื้นที่ห่างไกลอย่างภูมิภาคแอมะซอน นักการเมืองท้องถิ่นแทบไม่รู้จักเรื่องเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แม้ว่าจะมีความเสี่ยงของความปลอดภัย รวมถึงยังมีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่บ่อยครั้ง


เรื่องนักการเมืองถูกขู่ทำร้ายหรือถึงขั้นเอาชีวิตไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การเมืองท้องถิ่นในบราซิล ส่วนใหญ่มักรู้จักมักคุ้นกันดี ชาวบ้านก็คุ้นหน้าคุ้นตากับนักการเมือง จึงไม่ค่อยเกิดเรื่องรุนแรงมากนัก


ส่วนในเมืองใหญ่อย่างเซาเปาโล หรือริโอเดอจาเนโร นักการเมืองที่นี่จะถูกห้อมล้อมไปด้วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ขณะที่สินทรัพย์มีมากมายให้กอบโกย นำมาซึ่งความห่างของคุณภาพชีวิตและความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน


นักการเมืองที่ร่ำรวย ก็จะหาทางคุ้มครองตัวเองเหมือนกับนักการเมืองในตะวันตก


บราซิลเกิดความแตกแยกทางการเมืองมานานแล้ว ยิ่งในยุคฌาอีร์ โบลโซนาโร เป็นผู้นำประเทศยิ่งเห็นได้ชัด เขาถูกแทงระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง และนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาเป็นข้ออ้างผลักดันกฎหมายพกพาอาวุธปืน


อย่างไรก็ดี เรากลับคุ้นกับภาพที่โบลโซนาโรทักทายผู้สนับสนุนอย่างเป็นกันเองแบบประชิดตัว แม้จะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่รายล้อม แต่แทบทุกคนสามารถเข้าถึงผู้นำบราซิลได้แบบใกล้ชิด ส่วนหนึ่ง โบลโซนาโรคงมั่นใจว่า คนที่เข้าถึงตัวเป็นมิตรมากกว่าเป็นศัตรู


◾◾◾

🔴 เนเธอร์แลนด์


ภาพของนายกรัฐมนตรีมาร์ก รุตเตอ ขี่จักรยานไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน โดยที่ไม่มีผู้ติดตามหรือองค์รักษ์แม้แต่คนเดียว สะท้อนให้เห็นว่าเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ปลอดภัย สงบ และยอมรับความแตกต่างของผู้คนในสังคม


แต่อย่าพึ่งมองทุกอย่างสวยหรูเกินไป เพราะบางครั้งเสรีภาพมันก็มีขอบเขต


ชายวัย 22 ปีคนหนึ่ง ตอนนี้ยังอยู่ในเรือนจำ โทษฐานวางแผนลอบสังหารรุตเตอ ที่ก็เพิ่งตกเป็นข่าวว่าตกเป็นเป้าหมายลักพาตัวของแก๊งยาเสพติดและนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม


ขณะที่เมื่อ 20 ปีก่อน พิม ฟอร์จูน นักการเมืองฝ่ายขวาคนดังผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง LPF ก็ถูกลอบสังหารโดยนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย อันเป็นการลอบสังหารทางการเมืองที่ลือลั่นที่สุดในรอบหลายร้อยปีของเนเธอร์แลนด์


นักการเมืองเนเธอร์แลนด์มักไม่ค่อยออกพบปะประชาชนหรือให้ประชาชนเข้าใกล้แบบถึงตัว รวมถึงไม่ค่อยจะยอมเข้าร่วมเวทีอภิปรายหรืองานตามที่สาธารณะเท่าไหร่นัก


อย่างไรก็ดี มีนักการเมืองน้อยคนที่ต้องถึงกับมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัย หนึ่งในนั้น รวมถึงเกียร์ต วิลเดอร์ นักการเมืองฝ่ายขวาชื่อดังผู้มีแนวคิดต่อต้านมุสลิม ส่วนใหญ่แล้ว นักการเมืองเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าตนเองปลอยภัย และไม่ตกเป็นเป้าโจมตีจากภาระหน้าที่ที่ทำอยู่


◾◾◾

🔴 สหรัฐอเมริกา


ความเสี่ยงเรื่องเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนที่เกิดขึ้นดาษดื่น และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ทำให้การพบปะระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเปลี่ยนไป


แต่ที่ผ่านมา นักการเมืองทั้งฟากเดโมแครตและรีพับลิกันล้วนตกเป็นเป้าโจมตีด้วยกันทั้งสองฝ่าย สตีฟ สกาลิส ส.ส.รีพับลิกัน เคยถูกยิงบาดเจ็บระหว่างลงฝึกซ้อมเบสบอลทีมสมาชิกสภาคองเกรสในปี 2017 ส่วน ส.ส.กาเบรียล กิฟฟอร์ด สส.รัฐแอริโซนาจากพรรคเดโมแครต ก็ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส ระหว่างร่วมงานการเมืองนอกซูเปอร์มาร์เก็ต


การตอบสนองต่อคำขู่ก็มักจะเป็นไปตามแนวทางที่พรรคกำหนด สมาชิกพรรคเดโมแครตบางส่วนจะหลีกเลี่ยงการร่วมงานที่มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมากในสถานที่เปิด หรือเดินทางพร้อมกับทีมรักษาความปลอดภัย ส่วน ส.ส. จากรีพับลิกันไม่หวั่น ยังคงหาเสียงหรือพบปะผู้สนับสนุนตามเดิม จึงเป็นเรื่องปกติที่พวกเขาจะฝ่าฝูงชนเข้าไปทักทายผู้สนับสนุน อย่างที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เห็นบ่อยครั้ง ส.ส. รีพับลิกันบางคนไปพบผู้สนับสนุนที่สนามยิงปืนด้วยซ้ำ


เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรครีพับลิกันมีจุดยืนสนับสนุนเรื่องสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน ส่วนพรรคเดโมแครตผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ดี แม้จะมีเบื้องหลังทางการเมืองต่างกัน ก็จะพยายามหาทางออกที่ประนีประนอม เพราะการพบผู้สนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของงานการเมือง และที่สำคัญ พวกเขาต่างตกใจกับข่าวความรุนแรงจากอาวุธปืนที่เกิดกับเพื่อนนักการเมือง ไม่ว่าจะในสหรัฐฯ หรือต่างแดน


◾◾◾

🔴 อินเดีย


เป็นนักการเมืองในอินเดีย ประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นั้นถือเป็นอภิสิทธิ์ของชีวิต นักการเมืองแทบทุกคนต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดอาวุธอยู่ข้างกายอย่างน้อย 1 คน


แต่ไม่ใช่ ส.ส.ทุกคนจะปฏิบัติได้ในระดับนี้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ได้รับว่ามากน้อยแค่ไหน โดยกระทรวงมหาดไทยของรัฐบาลกลาง จะพิจารณาเรื่องความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของ ส.ส.แต่ละคน ก่อนกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมออกมา


ขณะที่ตำรวจประจำรัฐต่าง ๆ ยังมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ ส.ส. ที่ลงพื้นที่พบปะประชาชน ซึ่งหลายครั้ง ส.ส.ก็จะพบปะพูดคุยกับชาวบ้านผู้สนับสนุน โดยที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ข้างกายตลอดเวลา


ที่ผ่านมา เกิดเหตุโจมตีพุ่งเป้าไปยังนักการเมืองบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง อยากมากก็เป็นการสาดสีใส่ หรือตบหน้า อาร์วินด์ เกจริวาล มุขมนตรีกรุงนิวเดลี เคยถูกชายคนหนึ่งตบหน้าระหว่างลงพื้นที่หาเสียงเมื่อปี 2019


แต่อย่าลืมว่า นักการเมืองอินเดียอีกจำนวนมาก รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี และอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ต่างเสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารมาแล้วในอดีต

—————

เรื่อง: ชายแดน คล้ายใยทอง

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง