รีเซต

ไม้เท้า 3 in 1 ค้ำแขน ค้ำศอกและพยุงเดิน เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตได้ดีแม้มีไม้เท้าติดตัวก็ตาม

ไม้เท้า 3 in 1 ค้ำแขน ค้ำศอกและพยุงเดิน เพื่อช่วยให้ใช้ชีวิตได้ดีแม้มีไม้เท้าติดตัวก็ตาม
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2567 ( 13:32 )
16

ไม้เท้าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยเดินที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเดินหรือการทรงตัว แต่กว่าผู้ป่วยจะได้ใช้ไม้เท้าก็ต้องผ่านการใช้อุปกรณ์ค้ำยันอื่น ๆ มาแล้วไม่น้อย เช่น เฝือก ไม้ค้ำศอก ไม้เท้าค้ำยันที่ต้องหนีบเข้ากับรักแร้ หรือใช้ที่พยุงเดินในผู้ป่วยบางราย 


ด้วยเหตุนี้ โยนาส คราเมอร์ (Jonas Krämer) ร่วมกับไอลา วาร์นเก (Ayla Warncke) นักศึกษาปริญญาโทด้านการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมจากเยอรมนี จึงได้พัฒนาเพเดสเทรียน (Pedestrian) ไม้เท้าที่ปรับแต่งการทำงานได้ เพื่อรวบความสามารถของทั้งเป็นไม้ค้ำแขน ไม้ค้ำศอก และไม้เท้าช่วยพยุงเดินเข้าด้วยกัน รวมถึงต่อยอดให้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ที่ใช้งานด้วย



ส่วนประกอบและการทำงานของไม้เท้า 3 in 1

เพเดสเทรียน (Pedestrian) มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เป็นโครงไม้เท้าที่เป็นโลหะพร้อมปลายที่ทำจากยางซึ่งมีการเซาะร่องเพื่อเสริมการยึดเกาะกับพื้น ส่วนที่สอง เป็นอุปกรณ์ค้ำยันช่วงแขนที่ทำจากยาง และส่วนที่สาม เป็นอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เพื่อใช้ในการปรับไม้เท้าให้เข้ากับสรีระผู้ใช้งานที่ทำจากยางเช่นกัน


การใช้งานหลักประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ไม้เท้า (Walking Stick Mode) ที่ยังคงรูปแบบคล้ายไม้เท้าประคองทั่วไป แต่ระดับความสูงของไม้เท้าสามารถปรับได้พร้อมตัวล็อก 


รูปแบบที่ 2 คือ ไม้ค้ำยันศอก (Forearm Crutch Mode) ผู้ใช้งานสามารถหมุนจุกยางที่ปลายไม้เท้าออก แล้วหมุนส่วนอุปกรณ์ค้ำยันช่วงแขนเข้าไปในแนวตั้ง ซึ่งจะทำให้ตัวไม้เท้าช่วยประคองคำ้ยันส่วนข้อศอกและแขนส่วนบนได้


รูปแบบที่ 3 คือ ไม้ค้ำยันแขน (Arthritis Support) เป็นรูปแบบที่ผู้ใช้งานสามารถต่อแท่งจับให้อยู่ในแนวตั้ง แล้วเสริมอุปกรณ์ค้ำยันช่วงแขนเข้าไปในแนวนอนแทน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้งานเพื่อพยุงตัวได้




ปรัชญาการออกแบบไม้เท้า 3 in 1

จุดเด่นสำคัญเพิ่มเติมของเพเดสเทรียน (Pedestrian) คือการทำให้ส่วนปลายของชุดอุปกรณ์ค้ำยันช่วงแขนหมุนได้ ดังนั้น ส่วนแขนของผู้ใช้งานจึงสามารถยกขึ้นมาเพื่อใช้งานในกิจวัตรประจำวัน เช่น การจับมือทักทาย การรับโทรศัพท์ หรือการจับที่จับประตูได้ โดยตัวไม้เท้ายังคงวางตัวช่วยค้ำยันไว้ 


เพเดสเทรียน (Pedestrian) เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ไม้เท้ามีความอเนกประสงค์และครอบคลุมการช่วยพยุงเดินมากขึ้น เนื่องจากปกติแล้ว การฟื้นฟูการเดินในระยะ 3 - 12 เดือน มีโอกาสที่ต้องใช้ไม้ค้ำแขน หรือไม้ค้ำรักแร้ ก่อนไปใช้ไม้ค้ำศอก และไม้เท้า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์พยุงเดินถึง 3 อุปกรณ์ ในระยะเวลาไม่กี่เดือน โดยที่อุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้จะถูกทิ้งหรือเก็บลืม


ไม้เท้าเพเดสเทรียน (Pedestrian) ได้รับรางวัลจากไอเอฟ ดิไซน์ (IF Design) ซึ่งเป็นรางวัลด้านการออกแบบนวัตกรรมและสินค้าที่มีชื่อเสียงระดับโลกประเภทนักเรียน/นักศึกษา (IF Design Student Award) ประจำปี 2024 ในขณะที่ผู้พัฒนายังไม่ได้เปิดเผยแผนการผลิต จัดจำหน่าย และการตลาดเพิ่มเติมในตอนนี้




ข้อมูล Jonas Krämer, Designboom, IF Design Award

ภาพ Jonas Krämer


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง