รีเซต

คมนาคม ลงพื้นที่เช็กค่าระดับเสียงรถไฟฟ้า หลังปชช.ร้องเรียน

คมนาคม ลงพื้นที่เช็กค่าระดับเสียงรถไฟฟ้า หลังปชช.ร้องเรียน
TNN ช่อง16
24 พฤศจิกายน 2563 ( 17:42 )
91

จากกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะทางเสียงเนื่องจากการเดินรถไฟฟ้าช่วงทางโค้งระหว่างสถานีบางนากับสถานีอุดมสุข  วันนี้(24 พ.ย.63)  กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการขนส่งทางราง ได้จัดเจ้าหน้าที่ ขร. ลงพื้นที่ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อตรวจวัดค่าระดับเสียงจากการเดินรถไฟฟ้า 


โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ขร. ได้ดำเนินการตรวจวัดเสียงทั้งภายในขบวนรถ และนอกขบวนรถ (เปิดหน้าต่างรถไฟฟ้าขณะตรวจวัด) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องตรวจวัดค่าระดับเสียง (Sound Level Meters) จำนวน 2 เครื่อง เพื่อให้ค่าระดับเสียงมีความแม่นยำและเชื่อถือได้มากที่สุด รวมทั้งตรวจวัดทั้งเที่ยวไป (สถานีอุดมสุข – สถานีบางนา) และเที่ยวกลับ (สถานีบางนา – สถานีอุดมสุข) โดยผลการตรวจวัดมีรายละเอียดดังนี้

เที่ยวไป (สถานีอุดมสุข – สถานีบางนา) ค่าเฉลี่ยระดับเสียงสูงสุดขณะไม่เปิดหน้าต่างรถไฟฟ้า อยู่ที่ 90.65 เดซิเบลเอ และ ขณะเปิดหน้าต่างรถไฟฟฟ้าอยู่ที่ 105.25 เดซิเบลเอ เที่ยวกลับ (สถานีบางนา – สถานีอุดมสุข) ค่าเฉลี่ยระดับเสียงสูงสุดขณะไม่เปิดหน้าต่างรถไฟฟ้า อยู่ที่ 91.75 เดซิเบลเอ และ ขณะเปิดหน้าต่างรถไฟฟ้าอยู่ที่ 104.90 เดซิเบลเอ ซึ่งค่าเฉลี่ยดังกล่าวมีค่าต่ำกว่าค่าระดับเสียงสูงสุด 115 เดซิเบลเอ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2540) เรื่อง กำหนดมาตรฐานระดับเสียงโดยทั่วไป ประกาศไว้ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ดังกล่าวพบว่าบริเวณที่ได้รับความเดือดร้อน อยู่ตรงกับบริเวณทางโค้งของรถไฟฟ้า รวมถึงรางที่ผ่านการใช้งานมานาน อาจเกิดข้อบกพร่องของราง (Rail Defects) เช่น รางมีลักษณะไม่เรียบ เป็นลอนหรือสันคลื่น จึงเป็นเหตุให้เกิดการเสียดสีระหว่างล้อรถไฟฟ้ากับราง จนก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงได้


ทั้งนี้ ขร. ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการลดค่าระดับเสียงจากการเดินรถไฟฟ้า โดยอ้างอิงจากงานวิจัยหลายฉบับของ International union of railways (UIC) เช่น Railway Noise in Europe (2016) และ Noise Reduction in Rail Freight (2007) พบว่ามีแนวทางการลดค่าระดับเสียง ดังนี้

1. การเจียรราง (Rail Grinding) เพื่อเพิ่มความเรียบให้ราง ซึ่งจะช่วยลดเสียงลงได้ 2.5 – 20 เดซิเบล

2. ปรับเพิ่มความแข็งแรงของแผ่นรองราง (Rail Pad Stiffness) เพื่อลดการสั่นสะเทือน

3. เปลี่ยนระบบเบรก มาใช้ระบบดิสค์เบรก ซึ่งใช้กันอยู่ปัจจุบันในระบบรถไฟฟ้าแล้ว

4. ติดตั้งกำแพงกั้นเสียง เพื่อลดระดับการกระจายของเสียง แต่จะมีผลต่อทัศนียภาพ เบื้องต้น ขร. ได้ประสาน BTSC ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบบริเวณสถานีดังกล่าวให้ดำเนินการเจียรราง ที่เป็นวิธีที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและใช้งบประมาณไม่มาก และต่อมา BTSC ได้ดำเนินการเปลี่ยนรางและเจียรรางในเบื้องต้นแล้วระหว่างวันที่ 16-22 พฤศจิกายน 2563  โดยการดำเนินการดังกล่าวมีผลออกมาเป็นที่น่าพอใจจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

 หลังจากนี้  ขร. BTSC พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยของรัฐ จะมีการลงพื้นที่วัดระดับเสียงอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม 2563 – มกราคม 2564 โดยจะเป็นการวัดระดับเสียงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการลดผลกระทบในเรื่องมลภาวะทางเสียงต่อไป


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง