ทำไม "BYD" ยอดขายกระฉูด! ท่ามกลางสงครามราคา EV l การตลาดเงินล้าน

สงครามราคาในตลาดรถยต์ไฟฟ้าจีนรอบล่าสุด เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้จุดกระแสความกังวลอย่างกว้างขวางต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมรถยนต์จีน แต่ก็ช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์บรรลุเป้าหมายยอดขายให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะ บีวายดี
ซึ่ง เซาต์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า บีวายดี ที่เริ่มจุดชนวนสงครามราคาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม รายงานการส่งมอบรถยนต์ในเดือนมิถุนายนล่าสุด จำนวน 382,585 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12 แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมในปีเดียวกัน เป็นการเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นเดือนที่ดีที่สุดของปีนี้
ขณะเดียวกัน มาตรการอุดหนุนจากรัฐบาล ก็เป็นอีกปัจจัยที่เร่งการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค โดยรัฐบาลปักกิ่ง ได้มอบส่วนลดให้ 20,000 หยวนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ 15,000 หยวนสำหรับรถใช้น้ำมัน และยังยกเว้นภาษีการขายร้อยละ 10 ให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์อีกด้วย
เฟต จาง (Phate Zhang) ผู้ก่อตั้ง ซีเอ็น อีวี โพสต์ (CnEVPost) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลในเซี่ยงไฮ้ ให้มุมมองว่า เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และการลดราคาอย่างมาก เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต โดยพบว่ายอดขายของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำหลายรายดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ท่ามกลางการระมัดระวังกรใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น
ส่วน จ่าว เจิ้น ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าช่วงนี้เป็นจังหวะเหมาะในการตัดสินใจซื้อรถ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่า หากผู้ผลิตรถยนต์หยุดการให้ส่วนลดราคา ก็อาจทำให้ยอดขายลดลงอย่างรวดเร็วได้
นอกจาก บีวายดี แล้ว ยังมีผู้ประกอบการรถยนต์รายอื่นที่มียอดขายที่แข็งแกร่ง โดย จีลี่ (Geely) เผยผลประกอบการ การส่งมอบรถยนต์ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม ถึงเดือนมิถุนายน) มีจำนวนรวมทั่วโลก 1 ล้าน 4 แสน 1 หมื่นคัน เติบโตขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และปรับเป้าหมายการเติบโตของทั้งปีนี้ เป็นร้อยละ 11
แบรนด์ กาแลกซี (Galaxy) ซึ่งเป็น อีวี ราคาประหยัดของ จีลี่ มียอดขายช่วง 6 เดือนแรก จำนวน กว่า 548,000 คัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 232% ส่วน ซีกเคอร์ (Zeekr) ที่เป็นแบรนด์พรีเมียมในกลุ่มเดียวกัน มียอดขายจำนวนกว่า 244,800 คัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5
และรา อย่าง เอ็กซ์เผิง (Xpeng) ก็มียอดขายที่ดีเช่นกัน โดยเอ็กซ์เผิง รายงานยอดส่งมอบรถของเดือนมิถุนายน มีจำนวนกว่า 34,600 คัน หรือ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า (224%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ส่วน นีโอ (Nio) มีการส่งมอบรถจำนวนกว่า 24,900 คันในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางแข่งขันที่รุนแรงนี้ ทำให้บริษัทที่มีผลงานไม่ดี เช่น โฮซอน นิว เอนเนอร์จี ออโตโมบิล (Hozon New Energy Automobile) อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ซึ่ง โฮซอนฯ เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ เนต้า (Neta) และกำลังเผชิญกับคำร้องขอให้เลิกกิจการจากบริษัทโฆษณาในเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากการค้างจ่ายค่าบริการ โดย โฮซอนฯ รายงานตัวเลขช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้ว (2024) ลดลงร้อยละ 12.1 หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการรายงานยอดขายอีกท่ามกลางปัญหาทางการเงินที่มีอยู่
ตามรายงานของ เจพี มอร์แกน เดือนพฤษภาคม เผยว่า การให้ส่วนลดราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นเท่าตัว คือจากร้อยละ 8.3 ในปี 2024 เป็นร้อยละ 16.8 ในเดือนเมษายนของปีนี้ และเมื่อปลายเดือนพฤษาภาคม บีวายดี ประกาศการลดราคารถยนต์ถึง 22 รุ่น ซึ่งถือเป็นการจุดชนวนสงครามราคารอบล่าสุดนี้ จากนั้นก็ตามมาด้วยแบรนด์รถยนต์รายอื่น รวมถึง จีลี่ และ แบรนด์สตาร์ทอัพอย่าง ลีปมอเตอร์ (Leapmotor) ที่ร่วมแข่งขันในเกมราคาด้วย
ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์จีน เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับสงครามราคา และกำลังการผลิตส่วนเกิน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยกดดันต่อการทำกำไรของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์
ข้อมูลจากรอยเตอร์ส พบว่า มีเพียง บีวายดี และ หลี่ ออโต้ (Li Auto) เพียง 2 ราย จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีนที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผลกำไรตลอดทั้งปี
แม้ว่า หน่วยงานกำกับดูแลของจีน จะเรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ยุติสงครามราคา แต่จากบทวิจัยล่าสุดของ อลิกซ์ พาร์ทเนอร์ (AlixPartners) ประเมินว่า สงครามราคาในตลาดยานยนต์จีน จะยังคงดำเนินต่อไป แต่อาจจะไปซ่อน หรือแอบแฝงอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ แทนการลดราคาโดยตรง เช่น การอุดหนุนเงินประกันภัย หรือการจัดไฟแนนซ์แบบดอกเบี้ย 0% เป็นต้น
สตีเฟน ไดเออร์ (Stephen Dyer) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการยานยนต์และอุตสาหกรรม ประจำภูมิภาคเอเชีย อลิกซ์ พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า จีน เป็นตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ที่มีการแข่งขันมากที่สุดในโลก โดยมีสงครามราคาที่รุนแรง แต่ก็มีนวัตกรรมที่รวดเร็ว รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยสภาพการแข่งขันที่รุนแรงแบบนี้ จึงทำให้มีการขับเคลื่อน ความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในด้านเทคโนโลยี และประสิทธิภาพด้านต้นทุน แต่นั่นก็ทำให้บริษัทอีกหลายราย ต้องดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผลกำไร
เมื่อตลาดเข้าสู่ช่วงการเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว ก็คาดว่าตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ของจีน จะมีการควบรวมกันอย่างชัดเจน และจะมีเพียงแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีทั้งหมด 129 แบรนด์ที่ขายรถยนต์พลังงานใหม่
และภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2030 คาดว่าจะมีเพียง 15 แบรนด์เท่านั้น ที่สามารถยืดหยัดทางการเงินได้ หรือสามารถทำกำไรได้ และแบรนด์เหล่านี้ จะครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงร้อยละ 75 หรือ 3 ใน 4 ของตลาดทั้งหมด ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมียอดขายเฉลี่ยปีละ 1.02 ล้านคัน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีผู้เล่นบางรายที่รายงานผลประกอบการรายปี และมีผลกำไรแล้ว สะท้อนถึงศักยภาพในการเติบโต ขณะที่บางแบรนด์อาจจะต้องถอนตัว หรือควบรวมกิจการ แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะช่วยสร้างภูมิทัศน์ที่มีการแข่งขัน และมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมมากขึ้นให้กับอุตสาหกรรม โดยจะขับเคลื่อนรูปแบบการดำเนินงานใหม่ที่เน้นความรวดเร็ว ประสิทธิภาพด้านต้นทุน และการตัดสินใจที่คล่องตัว
อย่างไรก็ตาม ไดเออร์ คาดว่าการรวมกิจการในจีนจะดำเนินไปช้ากว่า เมื่อเทียบกับตลาดอื่น ๆ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นอาจสนับสนุนแบรนด์ที่ไม่สามารถทำกำไรได้ เพราะแบรนด์เหล่านั้น มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
นอกจากนี้ อลิกซ์ พาร์ทเนอร์ คาดการณ์ด้วยว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีน มีแผนจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในยุโรปอีก 2 เท่า เป็นร้อยละ 10 ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตในยุโรปเป็น 800,000 ต่อปีได้ภายในปี 2030 แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป ให้ต้องเผชิญกับอัตราการผลิตที่ลดลง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
