รีเซต

เช็คสุขภาพ SMEs “หลังCOVID-19” ?

เช็คสุขภาพ SMEs “หลังCOVID-19” ?
TNN ช่อง16
26 ตุลาคม 2563 ( 09:50 )
207
เช็คสุขภาพ SMEs “หลังCOVID-19” ?

หลังมาตรการพักหนี้แบบเหวี่ยงแหหรือครอบคลุมทั้งหมดจบลง แบงก์ชาติ เลือกใช้การแก้ไขปัญหาหนี้แบบจำเพาะเจาะลงมากขึ้นโดยได้ประสานกับแบงก์พาณิชย์ จำแนกลูกค้าเป็นกลุ่มเพื่อเข้าไปดูแล 


โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถกลับมาดำเนินการธุรกิจตามปกติ เป็นกลุ่มสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน 60%, กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัวดีมีอยู่ราว 30-40%, กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ 4% และลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงินในระบบมีอยู่ประมาณ 6%

          

กลุ่มที่ต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือคือกลุ่มที่ 3 และ 4 จะต้องดึงขึ้นมา และให้เวลาเข้ามาร่วมมาตรการมีวงเงินรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ยืดหนี้ พักหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้จะพยายามให้มีความชัดเจนในสัปดาห์นี้" 

  

        

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขกลุ่มสุดท้ายที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน 6% นั้น คือประมาณ 80,000 ราย ซึ่งแบงก์กำลังติดตามให้กลับเข้ามาสู่ระบบให้ได้มากที่สุด แต่หากสุดท้ายตามไม่ได้จะดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ตอนนี้แบงก์ก็ช่วยทั้งลดดอกลดค่างวดบางส่วนโดยพิจารณาสถานะลูกหนี้เป็นรายๆ ไป          

ทั้งนี้ ตามฐานลูกหนี้ทั้งระบบมี 12 ล้านบัญชี รวมวงเงิน 5.5 ล้านล้านบาท อยู่ในระบบสถาบันการเงินของรัฐ 4 ล้านบัญชี รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท

ธุรกิจ SMEs เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทั้งในแง่ของรายได้และการจ้างงาน โดยผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีจำนวนกว่า 3 ล้านราย จ้างงานกว่า 12 ล้านคน ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งในแง่ของรายได้ที่หดหายไป ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวภาครัฐ ภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ ต่างพยายามจับมือช่วยเหลือกันและกันมาจนถึงวันนี้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ทว่าก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ยังคงต้องประคองช่วยเหลือกันต่อไป

ดังนั้น การเข้าใจบริบทสภาพ “หลังสถานการณ์โควิด-19” ของแนวโน้มธุรกิจและความพร้อมของสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และภาครัฐนำพาธุรกิจข้ามผ่านไปด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ TMB Analytics จึงทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ SMEs พร้อมทั้งประเมินสุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ SMEs พร้อมแนะกลยุทธ์


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน  เช็คสุขภาพ SMEs “หลังCOVID-19” ?

ได้ที่  https://www.youtube.com/watch?v=pW5ys0RTtV8


 

TMB Analytics ประเมินชีพจรธุรกิจ SMEs จากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ถูกผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยวิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัวตามลักษณะของธุรกิจ (V, U, L Shape Recovery) ว่าจะส่งผลกระทบไปยังผลการดำเนินงานของธุรกิจส่งผ่านไปยังกำไรก่อนหักภาษีของกิจการ (Earning Before Tax: EBT) โดยใช้ข้อมูลงบการเงินของธุรกิจ SMEs จำนวนกว่า 3 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแยกด้วยผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

“กลุ่ม Swift” คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรับตัวรวดเร็ว รายได้เริ่มฟื้นกลับมาเพราะพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก ทำให้ผลกำไรลดลงไม่มากและส่วนใหญ่ผลการดำเนินงานของกำไรยังเป็นบวก 

“กลุ่ม Viable” คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่พอปรับตัวได้ รายได้ลดลงบางส่วน ทำให้ผลกำไรยังลดลงค่อนข้างมากแต่ผลการดำเนินงานยังพอมีกำไรอยู่ 

“กลุ่ม Slow” คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรับตัวช้า รายได้ลดลงมาก แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายกลับลดลงได้น้อยกว่า เนื่องจากได้รับผลกระทบและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลกำไรลดลงมาก ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มนี้ขาดทุนต่อเนื่อง


ผลศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 65.7% อยู่ใน “กลุ่ม Viable” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 92.9% และขาดทุน 7.1%  ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา 

ลำดับต่อมา 21.7% เป็น “กลุ่ม Slow” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 73.7% และขาดทุน 26.3% ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม 

และ 12.6% เป็น“กลุ่ม Swift” ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 96.1% และมีขาดทุนเพียง 3.9% ได้แก่ ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/ เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล

เมื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว พบว่า 

“กลุ่ม Swift” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลการดำเนินงานของกิจการลดลงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังพอมีกำไรอยู่ จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความพร้อมในการปรับตัวได้ค่อนข้างดี ส่วน 

“กลุ่ม Viable” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่รายได้ลดลงเป็นบางส่วน ตลาดยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้กำไรของกิจการลดลงค่อนข้างมาก ธุรกิจในกลุ่มนี้จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อประคองกิจการให้ข้ามผ่านไป 

ในขณะที่ “กลุ่ม Slow” หนักสุดเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและรายจ่ายไม่สามารถลดลงได้  และกำลังซื้อที่ชะลอตัว ผลกำไรที่ลดลงมากจึงทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุนมาก เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดในระยะต่อไป


เช็คสุขภาพการเงิน SMEs “ความสามารถทำกำไร และสภาพคล่อง ใครยังไหวอยู่?”

เพื่อให้การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของ SMEs ในยุค “หลังโควิด-19” มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากประเมินชีพจรธุรกิจ SMEs แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังกล่าวมาแล้วข้างต้น (กลุ่ม Swift, Viable และ Slow) TMB Analytics ศึกษาเพิ่มเติมถึงสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ SMEs เพื่อให้ทราบว่า ผู้ประกอบการ SMEs มีกิจการที่สามารถทำกำไรอยู่ในระดับใด และภาวะสภาพคล่องทางการเงินยังไหวหรือไม่ ด้วยการประเมินสุขภาพทางการเงิน (Financial Health) ว่าสามารถรองรับวิกฤตและอยู่รอด ได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจมีศักยภาพดีขึ้นสำหรับดำเนินธุรกิจในอนาคต

ด้วยการนำข้อมูลทางการเงิน 2 ด้านมาประเมินร่วมกัน คือ 

1. ความสามารถในการทำกำไร (Profitability Performance) โดยวัดจากรายได้สุทธิก่อนหักภาษี (Earning Before Tax)  ซึ่งหากอัตราส่วนรายได้สุทธิต่อรายได้สูงกว่า 5% ถือว่าเป็นธุรกิจศักยภาพสูงในการหารายได้ 

และ 2. สภาพคล่องธุรกิจ (Liquidity Performance) โดยใช้ตัวชี้วัดวงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle) หากอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 45 วัน หมายถึง ธุรกิจยังมีเงินสดจำนวนหนึ่งที่สามารถไปลงทุนเพื่อขยายกิจการ ควบคู่ไปกับอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน Current Ratio ที่สูงกว่า 2 เท่า จะหมายถึง ธุรกิจมีสภาพคล่องที่แข็งแรง มีเงินสดในการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องของกิจการเพื่อชำระหนี้ระยะสั้น ด้วยวิธีการประเมินสุขภาพการเงินที่กล่าวมาข้างต้นจากจำนวน 3 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ TMB Analytics จัดลักษณะธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้


กลุ่มที่ 1 พร้อมโต เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินดีที่สุด จากความสามารถในการทำกำไรสูง และมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง จากการวิเคราะห์พบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มนี้มีสัดส่วน 20% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ธุรกิจในกลุ่มนี้จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบต่ำ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเติบโตสูง หากสามารถวางแผนการลงทุนและการตลาดล่วงหน้าได้เพื่อทำการขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

กลุ่มที่ 2 พร้อมฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินรองลงมา โดยมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง แต่มีสภาพคล่องธุรกิจที่เปราะบาง จากการวิเคราะห์พบว่ามีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ 27% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ได้รับผลกระทบจากวงจรเงินสดที่ยาวขึ้น สินทรัพย์หมุนเวียนน้อยลง ทำให้มีสภาพคล่องธุรกิจค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกสินค้ายา/ เวชภัณฑ์ และเครื่องจักร เป็นต้น หากธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs อยู่ในกลุ่มนี้ถือว่ายังโชคดีที่ธุรกิจยังสามารถทำกำไรได้ดี อย่างไรก็ตามควรที่จะบริหารสภาพคล่องให้ดีขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้อย่างราบรื่นขึ้น

กลุ่มที่ 3 รอฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินพอไปได้ ด้วยธุรกิจยังมีสภาพคล่องที่แข็งแรงสามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อ แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง พบว่ามีสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่ 19% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ธุรกิจกลุ่มนี้จะอยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น งานซ่อมบำรุง/ ทำความสะอาด รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา เป็นต้น กลยุทธ์ของธุรกิจกลุ่มนี้คือให้ความสำคัญกับการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อหารายได้ทดแทน รวมไปถึงการลดต้นทุนตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อรอการฟื้นตัวของตลาด

กลุ่มที่ 4 รอรักษา เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไปมาก กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องธุรกิจไม่ดี ในกลุ่มนี้มีจำนวนธุรกิจกระจุกอยู่ถึง 34% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก/ บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า ประดับยนต์และสถานบันเทิง เป็นต้น กลยุทธ์สำหรับธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการจัดหาสภาพคล่องเพิ่ม การบริหารสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจ รวมไปถึงการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อหาตลาดใหม่ หารายได้ทดแทน เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการต้องทำงานหนัก เพื่อจะได้ดำเนินธุรกิจให้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ ผลการประเมินสุขภาพทางการเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเห็นภาพได้ชัดขึ้น ช่วยวางแผนธุรกิจให้ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการ SMEs มีสุขภาพการเงินอยู่กลุ่มไหนเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบมีความเข้าใจสถานการณ์และประเมินธุรกิจรอบด้าน และนำมาปรับตัวเพิ่มศักยภาพตัวเองให้เติบโตไปตามทิศทางตลาดในอนาคตได้ รวมไปถึงการควบคุมดูและสถานะการเงินและบุคคลกรให้เหมาะสม หากผู้ประกอบการ SMEs วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจของตนเองได้ถูกต้อง จะนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์เพื่อขยายตลาดและบริหารสภาพคล่องได้เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางภาวะธุรกิจ สร้างโอกาสและศักยภาพให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้แน่นอน


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน  เช็คสุขภาพ SMEs “หลังCOVID-19” ?

ได้ที่  https://www.youtube.com/watch?v=pW5ys0RTtV8


 เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง