รีเซต

จากหมอกดำ สู่ฟ้าที่ใสขึ้น ปักกิ่งจัดการมลพิษ เอาชนะ PM 2.5 อย่างไร ?

จากหมอกดำ สู่ฟ้าที่ใสขึ้น ปักกิ่งจัดการมลพิษ เอาชนะ PM 2.5 อย่างไร ?
TNN ช่อง16
14 มกราคม 2568 ( 16:19 )
15
ครั้งหนึ่งปักกิ่ง ประเทศจีน เคยเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษที่รุนแรงจนติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก ภาพเมืองที่เต็มไปด้วยหมอกควันสีดำหรือสีเหลือง และประชาชนที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เป็นภาพสะท้อนของวิกฤตมลพิษในอดีต อย่างไรก็ตาม วันนี้คุณภาพอากาศในปักกิ่งดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยท้องฟ้ากลับมามีสีฟ้าอีกครั้ง ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า ปักกิ่งทำอย่างไรในการจัดการกับปัญหาฝุ่นเหล่านี้?


การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นถึง 1,078% ประชากรเพิ่มถึง 74% และจำนวนยานพาหนะในปักกิ่งถึง 335% แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวมาพร้อมกับการบริโภคทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันและถ่านหินที่เป็นต้นเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ


แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เห็นได้ชัด จากการประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ โดยจากที่ในฤดูหนาว ปี 2013 พบว่า ค่า PM2.5 ในปักกิ่งสูงถึง 101.56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ทศวรรษให้หลังในปี 2023 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 กลับลดลงมาเหลือแค่ 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งในปี 2023 ปักกิ่งยังมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของปี จัดอยู่ในประเภทคุณภาพอากาศดี โดยมีช่วงวันที่ PM2.5 ดีติดต่อกัน 192 วัน ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 20 วัน


โดยการจะกลับมามีอากาศที่ดีได้ ก็ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาไปวันต่อวัน แต่ปักกิ่งออกแผนระยะยาว และจริงจังกับปัญหานี้ด้วย


การติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับฝุ่น
ปักกิ่งได้นำมาตรการควบคุมมลพิษที่ครอบคลุมและหลากหลายมาใช้ โดยเริ่มต้นจากการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ และส่งเสริมการเดินทางอย่างยั่งยืน ในปี 2017 มีการสร้างเครือข่ายตรวจสอบคุณภาพอากาศที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยปักกิ่งเริ่มสร้างระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ (AQM) ในช่วงทศวรรษ 1980 ในปี 2013 ได้มีการจัดตั้งสถานี AQM ในบรรยากาศ 35 แห่ง ซึ่งสามารถตรวจสอบมลพิษหลัก 6 ชนิด 
ทั้งการตรวจคุณภาพอากาศนั้น ยังทำการตรวจวัดผ่านดาวเทียมความละเอียดสูงและเรดาร์เลเซอร์ เซ็นเซอร์ PM2.5 มากกว่า 1,000 ตัวถูกติดตั้งทั่วทั้งเมือง เพื่อระบุพื้นที่และช่วงเวลาที่มีการปล่อยมลพิษสูงได้อย่างแม่นยำ


การลดการใช้ถ่านหิน
การเผาถ่านหินเคยเป็นแหล่งมลพิษหลักในปักกิ่ง แต่ปักกิ่งได้ส่งเสริมการควบคุม และการปรับโครงสร้างพลังงานอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นที่โรงไฟฟ้า หม้อไอน้ำที่ใช้ถ่านหิน และการใช้ถ่านหินในที่อยู่อาศัย ทำให้แหล่งมลพิษได้รับการควบคุมพร้อมกัน 
ทั้งเมืองจึงเริ่มลดการใช้ถ่านหินในปี 2005 โดยใช้นโยบาย "ถ่านหินเป็นก๊าซ" และลดการเผาไหม้ถ่านหินลงเกือบ 11 ล้านตันภายในปี 2017 โรงไฟฟ้าถูกติดตั้งระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง และบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษต่ำพิเศษ ผลลัพธ์คือการลดการปล่อย PM2.5, SO2 และ NOx ลงถึง 97%, 98% และ 86% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนหน้า


การจัดการมลพิษจากยานพาหนะ
ปักกิ่งใช้มาตรการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ เช่น การปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยมลพิษ การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนค่อยๆ สร้างนิสัยการเดินทางในเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ
ซึ่งแม้จำนวนยานพาหนะจะเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปริมาณมลพิษจากภาคขนส่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2017 การปล่อย CO, THC, NOx และ PM2.5 ลดลง 89%, 64%, 55% และ 81% ตามลำดับ


ความร่วมมือระดับภูมิภาค
ปักกิ่งยังประสานงานกับเมืองใกล้เคียง เช่น เทียนจินและเหอเป่ย เพื่อควบคุมมลพิษในระดับภูมิภาค ตั้งแต่ปี 2013-2017 ความเข้มข้นของ PM2.5 ในภูมิภาคลดลงเกือบ 25% การประสานงานดังกล่าวรวมถึงการแบ่งปันข้อมูลและการตอบสนองเหตุฉุกเฉินร่วมกัน








ผลลัพธ์และความท้าทายใหม่
ในปี 2017 ความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีในปักกิ่งลดลงเหลือ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 35.6% เมื่อเทียบกับปี 2013 แม้ว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้น แต่ยังสูงกว่าแนวทางขององค์การอนามัยโลกถึง 6 เท่า ปักกิ่งยังคงดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาเทคโนโลยีลดมลพิษ เพื่อสร้างเมืองที่ยั่งยืนและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว จนในปี 2023 ลดลงมาได้เหลือ  32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการพบว่า แม้การเปลี่ยนแปลงของ PM2.5 ในจีนจะลดลง แต่ก็ไปส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมีของบรรยากาศ มีการปล่อยอนุมูลที่ผลิตโอโซนมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งมลพิษทางอากาศเช่นกัน และกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จีนต้องรับมือ โดยตอนนี้ทางการได้เริ่มมีแผนการจัดการกับโอโซนขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องติดตามว่า จะสามารถทำได้สำเร็จอย่างที่เคยจัดกับ PM2.5 หรือไม่ 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง