รีเซต

งบ 2564 : ฝ่ายค้านข้องใจงบดับไฟใต้ เปลี่ยนชื่อโครงการ “ตบตาสภา” แต่ตั้งเป้า “ปรับทัศนคติ” ประชาชนตามเดิม

งบ 2564 : ฝ่ายค้านข้องใจงบดับไฟใต้ เปลี่ยนชื่อโครงการ “ตบตาสภา” แต่ตั้งเป้า “ปรับทัศนคติ” ประชาชนตามเดิม
บีบีซี ไทย
2 กรกฎาคม 2563 ( 20:09 )
106
งบ 2564 : ฝ่ายค้านข้องใจงบดับไฟใต้ เปลี่ยนชื่อโครงการ “ตบตาสภา” แต่ตั้งเป้า “ปรับทัศนคติ” ประชาชนตามเดิม

Getty Images

ในวันที่ 2 ของการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท ทั้ง ส.ส. รัฐบาลและฝ่ายค้านได้ขุดคุ้ยเอกสารงบประมาณตามแผน "ดับไฟใต้" พบรัฐบาลจงใจเปลี่ยนชื่อโครงการปรับทัศนคติประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในคราวจัดทำงบเมื่อปีก่อน ทว่าไส้ในยังคงเดิม

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ตั้งงบประมาณตามแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 9,731.7 ล้านบาท

  • งบพัฒนา 5,261 ล้านบาท (คิดเป็น 54.06%) มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการลงทุน รายได้จากการท่องเที่ยว และรายได้ของประชากรในพื้นที่ 5%
  • งบด้านความมั่นคง 4,470 ล้านบาท (คิดเป็น 45.94%) มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ตั้งเป้าหมายลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ลง 50%

แม้งบดับไฟใต้ถูกหั่นลงจากปีก่อนถึง 910.2 ล้านบาท แต่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมว.กลาโหม ได้ยืนยันกลางสภาว่ากระบวนการการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของรัฐบาล พร้อมระบุว่างบที่ลดลงในส่วนนี้ ก็เพื่อปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ตัวชี้วัดยังคงเดิม

ขณะที่ ส.ส. บางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตต่อการจงใจเปลี่ยนแปลง "หัวเรื่อง" ในเอกสารงบประมาณ

โครงการ "ส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนับสนุนการแก้ปัญหา" ที่ปรากฏในปีงบประมาณ 2563 กลายร่างเป็นโครงการ "เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้" ในปีงบประมาณ 2564

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า มีหน่วยงาน 13 หน่วยรับผิดชอบโครงการดังกล่าว นำทีมโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทว่าถูกปรับลดงบประมาณลงเหลือ 111,737.8 ล้านบาท จากเดิม 139,890.8 ล้านบาท (คิดเป็น 20.12%) โดยที่รายละเอียดของกิจกรรมและตัวชี้วัดยังคงเดิมคือ "กลุ่มเป้าหมายคดีความมั่นคงได้รับการเปลี่ยนแนวคิด" และ "ร้อยละของกลุ่มเป้าหมาย เด็ก/เยาวชนได้รับการเปลี่ยนแนวคิด อายุ 1-5 ปีเพิ่มขึ้น"

"ดิฉันรู้สึกกังวล เพราะทำอย่างนี้เหมือนกับเยาวชนในพื้นที่ถูกตีตราว่ามีความคิดไม่ถูกต้อง กอ.รมน. จึงต้องใส่ความคิดที่ถูกต้องเข้าไป" ส.ส.มุสลิมจากพรรคร่วมรัฐบาลกล่าวและว่า หากต้องการให้ประชาชนมีความคิดที่ถูกต้อง น่าจะเป็นบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการ ไม่ใช่ กอ.รมน.

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายโจมตีรัฐบาลที่ "ตบตาสภา" ด้วยการเปลี่ยนชื่อโครงการ แต่เนื้อแท้ยังเหมือนเดิม พร้อมตั้งคำถามว่า "พฤติกรรมเช่นนี้คิดว่าสภาเป็นตรายางหรือ" และ "คิดว่าตกแต่งเอกสารให้สวย ๆ ก็เอามาให้เห็นชอบได้สบาย ๆ ใช่หรือไม่"

เขาจำแนกงบดับไฟใต้ของรัฐบาลออกเป็น 4 ส่วน ก่อนชี้ว่า "งบปรับทัศนคติและโฆษณาชวนเชื่อ" ยังคงมีสัดส่วนสูงสุดถึง 42.1% ขณะที่งบกระบวนการสันติภาพที่ควรได้รับความสำคัญเป็นอย่างสูง กลับมีสัดส่วนเพียง 16.4% เท่านั้น ซึ่งถือเป็น "ตลกร้าย" เพราะแม้ทิศทางของรัฐจะมุ่งสู่กระบวนการเจรจา แต่รายละเอียดงบประมาณกลับเปลี่ยนไปจากเดิมน้อยมาก

เทียบสัดส่วนงบดับไฟใต้ปี 2563-2564

โครงการ

ปี 2563

ปี 2564

การเยียวยาและฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพ

14.8%

16.4%

การพัฒนา

5.9%

5.7%

ความมั่นคง

36.3%

35.8%

การปรับทัศนคติและโฆษณาชวนเชื่อ

43.1%

42.1%

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากคำอภิปรายของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อ 2 ก.ค. 2563

อีกโครงการที่นายรังสิมันต์หยิบยกขึ้นมาอภิปราย เพราะได้งบเพิ่ม 17 ล้านบาท คือโครงการ "เพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและฐานข้อมูลความมั่นคง" วงเงิน 926 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็น "งบข่าวกรองเชิงรุก" 369 ล้านบาท ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านเคยวิจารณ์ว่างบก้อนนี้เป็นรายการ "สร้างสายข่าว สร้างความแตกแยก เปิดช่องให้ใส่ร้ายป้ายสี และคอร์รัปชัน" นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังมีงบอีกก้อนที่อยู่นอกแผนบูรณาการ วงเงิน 665 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่า กอ.รมน. มีงบในมือรวม 1,034 ล้านบาท

ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้านได้เปิดโปง "ขบวนการไอโอ" หรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ในจำนวนนี้มีการพาดพิงเว็บไซต์พูโลนี pulony.blogspot.com ในรายการเสนอของบประมาณของ กอ.รมน. ล่าสุดนายรังสิมันต์แจ้งกลางสภาว่าได้ทดลองเข้าไปที่เว็บไซต์ดังกล่าว พบว่าสามารถเข้าถึงได้ตามปกติ และยังเผยแพร่บทความสร้างความแตกแยก โจมตีองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไม่มีหยุดหย่อน

Getty Images

ส.ส.พรรคก้าวไกลยังอภิปรายต่อไปว่า ทิศทางของงานข่าวกรองหันมาใช้เทคโนโลยีและการบังคับเก็บข้อมูลส่วนตัวของประชาชน สะท้อนผ่านกรณีฝ่ายความมั่นคงเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของประชาชน โดยพุ่งเป้าไปยังชาวมุสลิมที่มีครอบครัวถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเก็บแบบเหมารวมขององค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้ในปี 2562 มีประชาชนถูกเก็บดีเอ็นเออย่างน้อย 600 ราย ส่วนทหารเกณฑ์ในพื้นที่ 19,000 นายก็ถูก "ขอให้ยินยอม" ให้เก็บดีเอ็นเอ ซึ่งถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างชัดแจ้ง และปฏิบัติต่อพลเมืองราวกับเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะก่ออาชญากรรม

เขาจึงกล่าวหารัฐบาลว่าจัดสรรงบประมาณบนฐานของความไม่ไว้ใจประชาชน และกำลังใช้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น "ห้องทดลอง" เพื่อควบคุม เก็บข้อมูล ล้างสมองประชาชน โดยมีคน 2 ล้านคนเป็นเสมือน "หนูทดลอง" หากสบช่องก็ค่อยเอามาใช้ทั้งประเทศ

"ขอเรียกร้องให้เพื่อน ส.ส. ทุกท่านร่วมกันใช้ 1 เสียงในมือของท่านปิดห้องทดลองอันชั่วร้ายนี้เสีย อย่าปล่อยให้เพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติของพวกเราต้องกลายเป็นเพียงหนูลองยา และอย่าปล่อยให้ลูกหลานของพวกเราต้องเป็นเหยื่อรายต่อไป" นายรังสิมันต์กล่าวทิ้งท้าย

ต่อมา พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้ลุกขึ้นชี้แจงเป็นรายประเด็น โดยปฏิเสธว่าโครงการสร้างแนวคิดที่ถูกต้องให้กับเยาวชน "ไม่ใช่การล้างสมอง" แต่เป็นการส่งเสริมให้อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการกับเยาวชน แต่เป็นการให้ความรู้ครูและผู้ปกครองเพื่อให้ไปสอนลูกศิษย์และบุตรหลานต่อ ให้เด็ก ๆ ได้รู้หลักธรรมทางศาสนา และให้โตมาด้วยความคิดในทางบวก ไม่แสวงหาทางออกด้วยความรุนแรง

ส่วนคำชี้แจงอื่น ๆ สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

  • การตรวจดีเอ็นเอประชาชนในพื้นที่/ทหารเกณฑ์ : "ไม่ได้บังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือ" และ "ทำเฉพาะที่จำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐาน" ด้วยความมุ่งหมายในการพิทักษ์ทรัพย์สินประชาชน และหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
  • งานด้านการข่าว : ไม่ใช่ไปสร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้น แต่เป็นการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยเน้นป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ หรือเมื่อเกิดแล้วก็ควบคุมยับยั้งให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด
  • การติดตั้งกล้องวงจรปิด : เป็นเครื่องมือสำคัญป้องกันการเกิดเหตุ หรือเมื่อเกิดแล้วก็จะเป็นเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดต่อไป
  • เว็บไซด์พูโลนี : "กอ.รมน. และรัฐบาลไม่มีนโยบายไปปฏิบัติการหรือให้ร้ายกลุ่มบุคคลใด ๆ ทั้งสิ้น" แต่ปัจจุบันมีเว็บไซต์มากมายที่เผยแพร่ข่าวปลอม ทำให้เกิดความเข้าใจผิด โจมตีรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบางเพจหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสถาบัน ทางหน่วยงานจึงต้องให้ข่าวที่ถูกต้อง ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เป็นจริงให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อไปกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อไป

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง