โครงการ LIGO เริ่มต้นการล่าคลื่นความโน้มถ่วงครั้งใหม่ในปี 2024
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา โครงการไลโก (LIGO หรือ Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) ที่ตามล่าคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศด้วยหอสังเกตการณ์ไลโก (LIGO) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 1984 ได้กลับมาทำงานอีกครั้งภายใต้ชื่อใหม่คือโครงการโอ4 (O4 หรือ Observation Run 4) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างหอสังเกตการณ์ไลโก, เวอร์โก (VIRGO) และคากรา (KAGRA) ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เพื่อตามล่าคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศ
อย่างไรก็ตาม โครงการต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากมีเพียงหอสังเกตการณ์ไลโกเท่านั้นที่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ในขณะที่หอสังเกตการณ์เวอร์โกกระจกเสียหายและต้องได้รับการซ่อมแซม จึงถูกปิดใช้งานอย่างไม่มีกำหนด ส่วนหอสังเกตการณ์คากราจะสามารถทำงานได้อีก 1 เดือน ก่อนจะถูกปิดเพื่ออัปเกรดอุปกรณ์
การเริ่มใหม่อีกครั้งในปี 2024
ด้วยเหตุนี้ทีมนักวิจัยจึงวางแผนให้โครงการโอ4 หยุดลงชั่วคราวและกลับมาเริ่มปฏิบัติภารกิจอีกครั้งในปี 2024 ซึ่งมันจะทำงานยาวนาน 18 เดือน ไปจนถึงปี 2025 ก่อนทีมนักวิจัยจะทำการปิดหอสังเกตการณ์ทั้ง 3 แห่ง เพื่ออัปเกรดอุปกรณ์และคาดว่าจะกลับมาทำการอีกครั้งในปี 2027
เดิมทีแล้วโครงการโอ4 มีเป้าหมายที่จะตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงให้ได้ทุกวัน ตรวจจับหลุมดำคู่ให้ได้ทุกวันหรือ 2 วัน และตรวจจับดาวนิวตรอนให้ได้ทุกสัปดาห์ แต่น่าเสียดายที่หอสังเกตการณ์ทั้ง 3 แห่ง ยังไม่สามาถทำได้ตามเป้าหมายในขณะนี้
คลื่นความโน้มถ่วงคืออะไร ?
สำหรับคลื่นความโน้มถ่วงมีที่มาจากที่มาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstien) ซึ่งเปรียบกาลอวกาศ (กาลเวลาและอวกาศ) เป็นเสมือนผืนผ้าเรียบ เมื่อมีวัตถุวางลงไปจะทำให้ผืนผ้าบริเวณรอบ ๆ วัตถุโค้งงอตามไปด้วย เราเรียกสิ่งนั้นว่าแรงโน้มถ่วง โดยในกรณีที่วัตถุ 2 วัตถุ ชนเข้าด้วยกันจะก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นระลอกคลื่นไปบนผืนผ้า ซึ่งสิ่งนั้นก็คือคลื่นความโน้มถ่วง เช่น ในกรณีที่หลุมดำ 2 หลุม ชนกันจะก่อให้เกิดคลื่นความโน้มถ่วงแผ่ออกไปทั่วอวกาศแต่ความเข้มข้นของคลื่นจะลดลงตามระยะทาง
การตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคาดการณ์ที่มาของมันได้ว่าเป็นหลุมดำหรือดาวนิวตรอนที่อยู่ห่างจากโลกออกไปเป็นระยะทางประมาณกี่ปีแสงและมีลักษณะอย่างไร ซึ่งจะช่วยในการสร้างแผนที่เอกภพได้ในอนาคต เนื่องจากเอกภพของเรากว้างใหญ่มากและเป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะเดินทางไปสำรวจได้ด้วยตัวเองทั้งหมดเพื่อนำข้อมูลมาทำแผนที่
ข้อมูลจาก space.com
ภาพจาก LIGO