รีเซต

"เวิลด์แบงก์" ประเมินจีดีพีปีหน้าโต 3.9% หวังนักท่องเที่ยวกลับมา 20 ล้านคน ในปี 66 ชี้ติดตามใกล้ชิดโควิดสายพันธุ์ใหม่

"เวิลด์แบงก์" ประเมินจีดีพีปีหน้าโต 3.9% หวังนักท่องเที่ยวกลับมา 20 ล้านคน ในปี 66 ชี้ติดตามใกล้ชิดโควิดสายพันธุ์ใหม่
มติชน
14 ธันวาคม 2564 ( 13:44 )
46
"เวิลด์แบงก์" ประเมินจีดีพีปีหน้าโต 3.9% หวังนักท่องเที่ยวกลับมา 20 ล้านคน ในปี 66 ชี้ติดตามใกล้ชิดโควิดสายพันธุ์ใหม่

“เวิลด์แบงก์” ประเมินจีดีพีปีหน้าโต 3.9% หวังนักท่องเที่ยวกลับมา 20 ล้านคน ในปี 66 ชี้ติดตามใกล้ชิดโควิดสายพันธุ์ใหม่ เผยหากคุมไม่ได้หวั่นศก.ติดลบ 0.3%

 

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ออกรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย โดยได้ประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 ไว้ที่ 1% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการครั้งก่อน หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดและเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 ซึ่งจะค่อยๆฟื้นตัวขึ้น จีดีพีในปี 2565 จะโตได้ 3.9% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 2565 ส่วนปี 2566 จีดีพีจะโตได้ 4.3% จากแรงส่งด้านการส่งออก การบริโภคและการท่องเที่ยว

 

นายเกียรติพงศ์กล่าวว่า สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเกือบ 7 ล้านคน โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี และเพิ่มขึ้นอีกในปี 2566 เป็น 20 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 62 โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการเติบโตของจีดีพีได้ 2% ในปี 2565 และ 4% ในปี 2566 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวเกือบ 4% ในปี 2565 และปี 2566

 

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้สิ่งที่ยังต้องติดตามใกล้ชิดคือกรณีหากมีการระบาดโควิด-19 ใหม่อีกรอบ และเป็นสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้ควบคุมได้ยาก จนภาครัฐต้องออกมาตรการเพื่อมาจำกัดการระบาด จำกัดการเดินทาง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กลับมาติดลบ 0.3% และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้าออกไป 1 ปี ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด จำเป็นต้องย้ายจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3% สะท้อนว่ามีความเปราะบาง โดยภาครัฐได้มีพ.ร.ก.เงินกู้รวม 1.5 ล้านล้านบาท มาใช้กับการเยียวยา เป็นมาตรการช่วยประคับประคองคนที่ยากจนและรับผลกระทบโควิด ส่วนหนี้สาธารณะยังมีพื้นที่ทางการคลังใช้อย่างเพียงพอ แต่อาจต้องใช้อย่างเฉพาะจุดมากขึ้น

 

ขณะที่การประมาณการได้นำเรื่องดิจิทัลเข้ามาประมาณการเศรษฐกิจด้วย โดยคำนึงถึงการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีมาช่วย เช่น การทำงานที่บ้านหรือเวิร์คฟอร์มโฮมในช่วงวิด , การเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการเยียวยาภาครัฐ และไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่นำฟินเทคมาใช้ตั้งแต่ก่อนโควิด มีระบบพร้อมเพย์ มีฐานข้อมูลการชำระเงิน และมองว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล และยังต้องเร่งพัฒนา เพราะปัจจุบันทักษะแรงงานยังขาดดิจิทัลที่เป็นภาคบริการอยู่ จากโครงสร้างเดิมคือเน้นการส่งออก การท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

“ข่าวดีเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และที่ผ่านมามีมาตรการประคับประคองความยากจน และคนตกงาน โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาเท่ากับก่อนโควิดในช่วงปลายปี 2565 จากการส่งออกที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน และการบริโภคที่อัดอั้นมานานจากช่วงโควิด และผลกระทบของโควิดต่อรายได้ แต่หนี้ครัวเรือนสูงยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายในระยะข้างหน้า” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

 

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลได้ดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนวาระดิจิทัลแล้ว ข้อเสนอแนะ คือ รัฐบาลสามารถดำเนินการเพิ่มเติมได้อีกเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัลและกระตุ้นธุรกิจดิจิทัล เช่น การส่งเสริมการแข่งขันและการจูงใจให้เกิดความสามารถในการทำงานร่วมกันในตลาดดิจิทัล การเพิ่มความพร้อมของทักษะด้านดิจิทัลและทักษะเสริมอื่นๆ รวมถึงยกระดับการเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงิน ทั้งนี้ตั้งแต่การเกิดโควิดในเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 30% ของผู้ใช้บริการดิจิทัลทั้งหมดในไทยเป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 90% ซึ่งสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากสิงคโปร์

 

“ในขณะที่แผลเป็นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 อาจคงอยู่ไปอีกนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการสูญเสียงานและการปิดโรงเรียน การพัฒนาที่นำโดยดิจิทัลสามารถช่วยชดเชยผลกระทบจากรอยแผลเป็นเหล่านี้ และทำให้มั่นใจได้ว่าการเติบโตจะมีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน” นางเบอร์กิท กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง