รีเซต

ขุมทรัพย์ "แร่ลิเธียม" ในไทย ใช่ “ความหวัง” สู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ EV หรือไม่?

ขุมทรัพย์ "แร่ลิเธียม" ในไทย ใช่ “ความหวัง” สู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ EV หรือไม่?
TNN ช่อง16
19 มกราคม 2567 ( 19:02 )
44
ขุมทรัพย์ "แร่ลิเธียม" ในไทย ใช่ “ความหวัง” สู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ EV หรือไม่?

นับเป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ เมื่อ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผลการสำรวจแร่ลิเธียม ซึ่ง เป็นหินอัคนี เนื้อหยาบมาก สีขาว หรือ หินเพกมาไทต์ ซึ่ง เป็นหินต้นกำเนิด ที่นำพาแร่เลพิโดไลต์สีม่วง หรือ แร่ที่มีองค์ประกอบของลิเธียม มาตกผลึกจนเกิดเป็นแหล่งลิเธียม ที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ 


- แหล่งเรืองเกียรติ มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย ร้อยละ 0.45  

- แหล่งบางอีตุ้ม ที่อยู่ระหว่างการสำรวจรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง โดยทั้งสองแหล่งตั้งอยู่ใน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา


สำหรับปริมาณแร่ลิเธียมสำรอง 14.8 ล้านตันที่พบในแหล่งเรืองเกียรตินั้น ถือเป็นปริมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก โบลิเวีย และอาร์เจนตินา 


แร่ลิเธียม  (Li) คือเป็นโลหะเบาที่สุดในโลหะทั้งมวล ทนความร้อนได้สูง และสามารถประจุพลังงานในแบตเตอรี่ได้เป็นปริมาณสูงมาก 


แร่ลิเธียม เป็นส่วนประกอบหลักของเซรามิกชนิดทนความร้อน แก้ว อยู่ในแบตเตอรี่คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เครื่องฟอกอากาศ จาระบีหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ ฯลฯ และลิเธียมยังถูกนำมาใช้ในแบตเตอรี่ความจุสูง ชนิดประจุใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดที่กำลังเติบโต ได้ทำให้ความต้องการลิเธียมสูงขึ้น 



"ลิเธียม" ไทยสมบูรณ์เทียบ 37 แหล่งทั่วโลก


ผศ.อลงกต ฝั้นกา อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา ระบุการศึกษาแร่ลิเธียมที่พบในจังหวัดพังงามีความสมบูรณ์เทียบเท่ากับแร่ลิเธียม ที่ค้นพบในอีก 37 แหล่งทั่วโลก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ประเทศไทยจะได้มีบทบาทในการเป็นผู้นำแร่ลิเธียม มาผลิตแบตเตอร์รี่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ขั้นตอนยังต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว


จากการค้นพบ แร่ลิเธียม ล่าสุดถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทยที่จะใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ จากเป็นผู้บริโภคก็จะมีบทบาทในการเป็นผู้นำแร่ลิเธียมมาผลิตแบตเตอร์รี่ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แต่กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะต้องผ่านการพิจารณาจากหลายภาคส่วน ถึงความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว และความต้องการแร่ลิเธียมในอนาคต


“ไทย” พบแหล่งแร่ "ลิเธียม" จริง แต่ไม่น่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก


ด้าน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ “Jessada Denduangboripant (อาจารย์เจษฎ์)” ได้ให้ข้อมูลว่า นับว่าเป็นข่าวดีจริง ๆ ที่เราค้นพบหินแร่ธาตุหายาก ที่กำลังเป็นที่ต้องการของทั้งในไทยเราเองและในต่างประเทศ อย่างเช่น “Lithium” แต่ประเด็นคือ ไทยเรามีลิเธียมเยอะมาก ขนาดนับเป็นอันดับ 3 ของโลกเชียวหรือ ?  


โดยระบุเพิ่มเติมว่า น่าจะเข้าใจผิดกัน  เพราะตัวเลข "14.8 ล้านตัน" ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า "หินเพกมาไทต์ " ซึ่งมีธาตุลิเธียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเธียมออกมาก่อน  เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ  6-7 หมื่นตัน แค่นั้น 


ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเธียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน  และมีเกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเธียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน 


ซึ่งถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเธียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเธียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก  


นอกจากนี้ ดร.เจษฎา ยังระบุอีกว่า ถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเธียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเธียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตันนี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเธียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเธียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน



กพร.ยัน! ข้อมูลแร่ลิเธียมคลาดเคลื่อน ไม่ใช่อันดับ 3 ของโลก


ล่าสุดวันนี้ 19 ม.ค.67 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ชี้แจงแล้วว่า พบแร่ 14.8 ล้านตันจริง แต่เป็น Mineral Resource ที่หมายถึงปริมาณทางธรณี ไม่ใช่ Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียมที่โลกใช้เทียบกัน


ดังนั้น สรุปข้อมูลได้ว่า การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากร โลหะลิเธียม ของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเธียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้


ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเธียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเธียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเธียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเธียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป




ภาพ TNNOnline 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง