รีเซต

ฝีดาษลิงในไทย รบ.ยืนยันไม่พบติดเชื้อ พร้อมเผยนิยาม “ผู้ป่วยสงสัย”

ฝีดาษลิงในไทย รบ.ยืนยันไม่พบติดเชื้อ พร้อมเผยนิยาม “ผู้ป่วยสงสัย”
TNN ช่อง16
31 พฤษภาคม 2565 ( 08:57 )
176
ฝีดาษลิงในไทย รบ.ยืนยันไม่พบติดเชื้อ พร้อมเผยนิยาม “ผู้ป่วยสงสัย”

วันนี้ ( 31 พ.ค. 65 )ความคืบหน้า ฝีดาษลิงในไทย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำขอความมั่นใจให้ชาวไทยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย โดยในส่วนของผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งเป็นผู้มาต่อเครื่องในไทย 2 ชั่วโมง บินมาจากประเทศยุโรป เพื่อไปออสเตรเลียเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทางแล้วจึงพบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน ระหว่างต่อเครื่องผู้ป่วยรายนี้ยังไม่มีอาการป่วย จึงถือว่าผู้สัมผัสใกล้ชิด ไม่ใช่กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง เพราะตอนใกล้ชิดยังไม่ได้ป่วย จึงไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยสงสัย อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด คือผู้โดยสารเครื่องบิน ลูกเรือ รวม 12 คน ยังไม่พบว่ามีอาการ และจะติดตามให้ครบ 21 วัน
ในส่วนของผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานรที่พบในประเทศไทย จำนวน 5 รายนั้น ทั้ง 3 รายแรกชาวไอร์แลนด์ ที่บินตรงไปที่ จ.ภูเก็ต และอีก 2 รายที่ยิมเดียวกัน จ.ภูเก็ต จากผลตรวจ ยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่ฝีดาษวานร เป็นผู้ป่วยโรคเริม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบาย เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงายที่เกี่ยวข้องเคร่งครัด รัดกุมในการทำงานเพื่อปกป้องประชาชนไทยให้ปลอดภัย อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องดูแลโดยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด “นิยามผู้ป่วยสงสัย” ดังนี้
1.มีไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต ไม่ว่าจะที่คอ ศอก ขาหนีบ
2.มีผื่นตามลำตัว ใบหน้า แขนขา ลักษณะเริ่มจากผื่น ตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด
ดังนั้น แม้จะไม่มีไข้ แต่มีผื่นเหล่านี้ ก็นับเข้านิยาม โดยทั้งหมดนี้จะร่วมกับประวัติเชื่อมโยงระบาดวิทยา ภายใน 21 วัน หรือก่อนมีอาการ คือ
1.มาจากหรืออาศัยในประเทศที่รายงานการระบาดฝีดาษลิง เช่น แอฟริกา แคนาดา สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ
2. ร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษ หรือมีอาชีพสัมผัสผู้เดินทางจากต่างประเทศ และ
3.สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ป่า
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังกำหนดให้ โรคฝีดาษลิงในไทยยังไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ยังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังเหมือนโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย อีสุกอีใส อหิวาตกโรค จึงยังไม่มีการเริ่มกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วยก่อน ซึ่งกรมควบคุมโรคเตรียมทีมสอบสวนโรคทุกจังหวัด หากพบผู้ป่วยเข้ามาต้องสอบสวนให้ทันภายใน 24 ชั่วโมงแรก รวมถึงติดตามเตรียมเวชภัณฑ์ ยา และวัคซีนด้วย

ข้อมูลจาก  : www.thaigov.go.th/

ภาพจาก : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง