ไขปริศนา "หินสโตนเฮนจ์" นักธรณีเผยอาจเคลื่อนที่มาไกล 750 กิโลเมตร
สโตนเฮนจ์ (Stonehenge) โบราณสถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและปริศนาที่บรรดานักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ยังคงทยอยหาคำตอบอยู่เรื่อย ๆ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เพิ่งเผยผลการศึกษาใหม่ นั่นคือ หินบนแท่นบูชา (The Altar Stone) อาจจะถูกเคลื่อนย้ายจากสกอตแลนด์ มายังที่ราบลุ่มซอลส์เบอรี (Salisbury Plain) ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันของสโตนเฮนจ์ หรือก็คือเคลื่อนย้ายมาจากจุดเดิมเป็นระยะทางกว่า 750 กิโลเมตร และจุดประกายความใคร่รู้ต่อก้าวหน้าของนวัตกรรมและวิธีการของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ข้อมูลเบื้องต้นของสโตนเฮนจ์
การศึกษาก่อนหน้าคาดการณ์ว่า สโตนเฮนจ์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว การวางตัวของสโตนเฮนจ์มีลักษณะเป็นวงกลมซ้อนกัน 2 ชั้น โดยประกอบด้วยหินหลัก 2 ประเภท คือ หินซาร์เซน (Sarsen stones) หรือหินทรายแข็งชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปทางตอนใต้ของอังกฤษ และ หินบลูสโตน (Bluestones) หรือก็คือหินทรายก้อนเล็กที่วางเป็นวงกลมด้านในและบางส่วนในโครงสร้างอื่น ๆ ของสโตนเฮนจ์ ส่วนตรงกลางของวงกลม จะเป็นที่ตั้งของแท่นบูชา หรือ ดิ อัลทาร์ สโตน (The Altar Stone)
การศึกษาก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์พบว่า หินซาร์เซน น่าจะถูกเคลื่อนย้ายมาจากบริเวณทางเหนือ ห่างจากที่ราบซอลส์บรีไปประมาณ 25 กิโลเมตร ส่วนหินบลูสโตนพบว่าไม่ได้มีแหล่งกำเนิดใกล้ ๆ ที่ราบซอลส์บรี แต่อาจมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางตอนใต้ในประเทศเวลส์ ห่างจากสโตนเฮนจ์ไปไกลประมาณ 225 กิโลเมตร
แต่ทั้งนี้ยังมีปริศนาที่ยังไขไม่หมด นั่นก็คือแท่นบูชาที่ตั้งอยู่ตรงกลาง มีหินทรายก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งวางอยู่ด้านบนในแนวนอน ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ว่าหินก้อนนี้มีที่มาจากไหน ทั้ง ๆ ที่หาคำตอบมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1870 - 1890 อย่างเช่น ริชาร์ด เบวินส์ (Richard Bevins) นักวิทยาศาสตร์โลก จากมหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธ ประเทศเวลส์ ที่ทำการศึกษาเพื่อหาคำตอบนี้มาเป็นเวลากว่า 15 ปี โดยวิธีการคือการเปรียบเทียบคุณสมบัติทางเคมีของหินบนแท่นบูชา กับหินโผล่ (Outcrops คือหินจากชั้นหินฐานที่โผล่ออกมาให้มองเห็นได้) ทั่วประเทศเวลส์ และประเทศอังกฤษ
แหล่งกำเนิดของหินบนแท่นบูชา
ล่าสุดเพื่อที่จะหาคำตอบนี้ ริชาร์ด เบวินส์ ได้ร่วมมือกับแอนโธนี คลาร์ก (Anthony Clarke) นักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย และทำการศึกษาโดยการเปรียบเทียบคุณสมบัติทางเคมีของหินบนแท่นบูชา เทียบกับรายงานหินตะกอนทั่วเกาะบริเทนใหญ่และประเทศไอร์แลนด์ โดยใช้ลำแสงเลเซอร์ทำให้แร่ในหินกลายเป็นไอระเหย จากนั้นวิเคราะห์ไอของก๊าซ โดยวัดอัตราส่วนของไอโซโทปของยูเรเนียมและตะกั่ว เพื่อกำหนดอายุของแร่
ผลลัพธ์พบว่า พื้นที่เดียวที่คุณสมบัติทางเคมีของหินตรงกัน ก็คือบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสกอตแลนด์ ที่เรียกว่า ออร์เคเดียนเบซิน (Orcadian Basin) ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ตั้งสโตนเฮนจ์ประมาณ 750 กิโลเมตร หรือก็คือเทียบเท่าระยะทางกระจัดจากกรุงเทพไปสงขลา แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้พื้นที่ที่แน่นอนของที่มาของหิน เนื่องจากออเคเดียนเบซิน ครอบคลุมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร และบางส่วนอาจมีความหนามากถึง 8 กิโลเมตร
นิค เพียร์ซ (Nick Pearce) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “ร่องรอยเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะมาก ผมไม่คิดว่าจะมีพื้นที่อื่นที่คุณสมบัติทางเคมีเหล่านี้จะตรงกัน”
คนยุคก่อนประวัติศาสตร์ขนย้ายหินขนาดใหญ่ด้วยวิธีไหน ?
คำถามต่อมาก็คือ หินบนแท่นบูชาซึ่งหนักประมาณ 6 ตัน กว้าง 1 เมตร ยาว 4.9 เมตร และหนา 0.5 เมตร ถูกเคลื่อนย้ายผ่านระยะทาง 750 กิโลเมตรมาได้อย่างไร ? นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีหลักฐานอธิบายเรื่องนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนตั้งสมมติฐานว่า ธารน้ำแข็งอาจพัดพาหินก้อนนี้มา ทั้งนี้ เดวิด แนช (David Nash) นักธรณีสัณฐานวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยไบรตัน ประเทศอังกฤษ แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ ระบุว่าเขาใช้ข้อมูลการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งในหมู่เกาะอังกฤษในการวิเคราะห์ และคาดว่าไม่มีทางที่ธารน้ำแข็งจะเคลื่อนย้ายหินก้อนขนาดนี้ จากสกอตแลนด์ตอนเหนือไปยังสโตนเฮนจ์ได้
อีกทฤษฎีคาดว่าหินอาจจะถูกคนโบราณเคลื่อนย้ายมาทางบก ซึ่ง ซูซาน กรีนีย์ (Susan Greaney) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ ประเทศ อังกฤษซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ได้ออกมาแย้งทฤษฎีดังกล่าว โดยเธอระบุว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะสกอตแลนด์มีลักษณะภูมิประเทศแบบภูเขา และในช่วงเวลาของการสร้างสโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษก็มีป่าไม้หนาทึบมาก
ส่วนอีกหนึ่งสมมุติฐานก็คือ หินถูกเคลื่อนย้ายมาทางทะเล โดยจิม เลียรี (Jim Leary) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยยอร์ก ประเทศอังกฤษ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ กล่าวว่า คนสมัยโบราณน่าจะเดินเรือไปตามชายฝั่งทะเล จากนั้นเข้าไปในแผ่นดินตามแม่น้ำ ก่อนจะขนหินขึ้นไปบนบก ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่คาดว่าสร้างสโตนเฮนจ์ เป็นช่วงเวลาที่คนสมัยโบราณขนสิ่งของหนักต่าง ๆ ด้วยเรือ และเดินทางไประหว่างเกาะต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทฤษฎีที่เสนอมามากมายแต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบวิธีการที่แน่นอนในการเคลื่อนย้ายหิน ซึ่งก็คงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
การศึกษาแหล่งที่มาของหินบนแท่นบูชานี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2024 ทั้งนี้การศึกษาเกี่ยวกับหินบนแท่นบูชานี้ และวิธีการเคลื่อนย้ายหินมาไกลกว่า 750 กิโลเมตร นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยแสดงให้เห็นถึงการจัดระเบียบทางสังคมในหมู่ชุมชนยุคหินใหม่ของอังกฤษ เหมือนอย่างที่ คริส เคิร์กแลนด์ (Chris Kirkland) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาไอโซโทปแห่งมหาวิทยาลัยเคอร์ติน และหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “การค้นพบนี้ทำให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยงในยุคก่อนประวัติศาสตร์และเทคโนโลยีของบริเตนยุคหินใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”
ที่มาข้อมูล NationalGeographic, Reuters, Nature