คลังเผยมีเงิน 7.58 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจ
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดมอบนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง โดยทางกระทรวงการคลังจะรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และมาตรการที่จะนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจระยะต่อไป ซึ่งนำมาใช้ในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ต่อเนื่องจากนโยบายเดิม
สำหรับเม็ดเงินนำมาใช้ดูแลเศรษฐกิจในระยะต่อไป มีวงเงินกว่า 7.58 แสนล้านบาท มาจาก 4 ส่วน คือ 1.จากวงเงินเยียวยาประชาชนในพรก.กู้เงิน ยังเหลือกว่า 1.8 แสนล้านบาท สามารถเก็บไว้เป็นกระสุนสำรองหากไทยเกิดการระบาดรอบ 2 และต้องล็อกดาวน์อีกครั้งเหมือนในหลายประเทศ ไทยสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้ดูแลประชาชนได้ แต่ถ้าไม่ใช้ไม่เป็นไร 2.วงเงินฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ขณะนี้ครม.อนุมัติงบประมาณไปแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาทยังเหลือวงเงินอีกกว่า 3.5 แสนล้านบาท แม้จะมีโครงการเสนอมาบ้างแล้ว แต่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่สามารถออกมาตรการเพื่อใช้เงินตรงนี้ตามกรอบของกฎหมายได้ 3.วงเงิน พรบ.โอนงบ ในประมาณปี 2563 จำนวน 8.8 หมื่นล้านบาท และ 4.วงเงินในงบประมาณประจำปี 2564 กันวงเงินไว้สำหรับโควิด-19 ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
นายลวรณ กล่าวต่อว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ สามารถใช้เม็ดเงินดังกล่าวออกโครงการหรือมาตรการใหม่ๆ เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจในระยะต่อไป หรือหากไม่ออกมาตรการสามารถใช้โครงการเดิมที่เคยเตรียมไว้ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
นายลวรณ กล่าวว่า ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และหลายมาตรการยังดำเนินการอยู่ เช่น การฟื้นฟูใช้เงิน 4 แสนล้านบาท จากพรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุดครม.อนุมัติโครงการไปไม่ถึง 5 หมื่นล้านบาท โดยมีข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนอยากให้ออกมาตรการเพิ่มเติม แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ดีขึ้นมาก เครื่องบ่งชี้ต่าง มีสัญญาณดีขึ้น ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังดีขึ้นไม่เท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยยังมีบางธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่น ภาคการส่งออก เอสเอ็มอี ดังนั้นหากจะมีมาตรการเพิ่มเติมจะเน้นให้ความช่วยเหลือในกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE