รีเซต

“เรือบรรทุกเครื่องบิน” ที่สหรัฐฯ ส่งไป “อิสราเอล” รับสิ่งของและสินค้ากลางทะเลอย่างไร ?

“เรือบรรทุกเครื่องบิน” ที่สหรัฐฯ ส่งไป “อิสราเอล” รับสิ่งของและสินค้ากลางทะเลอย่างไร ?
TNN ช่อง16
8 พฤศจิกายน 2566 ( 17:28 )
85
“เรือบรรทุกเครื่องบิน” ที่สหรัฐฯ ส่งไป “อิสราเอล” รับสิ่งของและสินค้ากลางทะเลอย่างไร ?

ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์ ฟอร์ด (USS Gerald R. Ford) เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินสัญชาติอเมริกัน ที่เดินทางไปสนับสนุน “อิสราเอล” ในทะเลตะวันออกกลาง โดยตัวเรือสามารถบรรทุกเครื่องบินรบได้มากกว่า 75 ลำ และมีลูกเรือกว่า 5,000 คน โดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ในการเดินเรือ ทั้งนี้ ตัวเรือยังคงต้องพึ่งพาอาหาร สินค้าและสิ่งของต่าง ๆ จากภายนอก แล้วตัวเรือรับสิ่งของเหล่านี้ได้อย่างไร TNN Tech จึงได้รวบรวมและสรุปวิธีการในข่าวนี้ทั้งหมด


วิธีการเติมเสบียงให้เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บัญชีแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ของเรือ USS Gerald R. Ford ได้เผยแพร่ภาพวิดีโอพร้อมข้อความประกอบว่า "เคยสงสัยหรือไม่ว่าเราได้จดหมาย อาหาร และเสบียงกลางทะเลได้อย่างไร และนี่คือคำตอบ" ซึ่งจากภาพวิดีโอที่มีการเร่งความเร็วภาพ (Timelapse) พบว่ามีเฮลิคอปเตอร์ที่ขนของไปมาระหว่างเรือของกองทัพเรือสหรัฐฯลำหนึ่ง กับตัวเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีเจ้าหน้าที่ถ่ายคลิปเอาไว้


จากการค้นข้อมูลของ TNN Tech โดยเปรียบเทียบลักษณะตัวเรือที่ใช้ส่งสินค้าทั้งหมด พบว่าเรือดังกล่าวมีชื่อว่า ยูเอสเอ็นเอส รอเบิร์ต อี แพรี (USNS Robert E. Peary) ซึ่งการขนของผ่านเฮลิคอปเตอร์นั้นมีความเห็นตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่ใช่วิธีการอื่น ๆ เช่น การเทียบตัวเรือ USNS Robert E. Peary แล้วส่งของผ่านสายสลิง 


โดยคำถามในลักษณะดังกล่าวได้มีความคิดเห็นเข้ามาตอบกลับว่า เพราะการส่งของผ่านตัวเรือนั้นจำเป็นต้องทำให้เรือทั้งสองฝั่งนิ่งพอจะส่งของได้ และการส่งยังต้องใช้เวลามากกว่าเฮลิคอปเตอร์ในปริมาณที่น้อยกว่าในแต่ละรอบการขนของ ดังนั้น การใช้เฮลิคอปเตอร์จึงคุ้มค่าและรวดเร็วกว่านั่นเอง


เรือเติมเสบียงให้กับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ

USNS Robert E. Peary เป็นเรือสนับสนุน (Replenishment Vessel) ที่ทำหน้าที่ขนของแห้ง (Dry Cargo) และเชื้อเพลิง โดยตัวเรือสามารถขนสิ่งของได้มากถึง 6,000 ตัน ขนส่งเชื้อเพลิงต่าง ๆ (อาจจะเป็นเชื้อเพลิงเรือ หรืออากาศยานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน แล้วแต่ภารกิจกำหนด) ได้สูงสุด 18,000 บาเรล หรือ 2,900 ลูกบาศก์เมตร ระยะเดินเรือ 14,000 ไมล์ทะเล (26,000 กิโลเมตร) ความเร็วสูงสุด 20 นอต  พร้อมเฮลิคอปเตอร์รุ่น MH-60S Knighthawk (รุ่นที่ต่อยอดจาก UH-60 Black Hawk) จำนวน 2 ลำ


USNS Robert E. Peary  มักได้รับภารกิจในการส่งของให้กับกองเรือใหญ่ ๆ นับตั้งแต่เข้าประจำการในปี 2008 โดยก่อนหน้านี้ในปี 2017 เคยเป็นเรือสนับสนุนที่ได้รับการปรับปรุงและรองรับระบบสนับสนุนกับเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นควีนเอลิซาเบธของอังกฤษมาแล้วด้วยเช่นกัน ในขณะที่ปัจจุบันทำหน้าที่กับหมู่เรือบรรทุกอากาศยานโจมตีที่ 12 (Carrier Strike Group 12) ที่มี USS Gerald R. Ford เรือบรรทุกเครื่องบินที่สหรัฐฯ ส่งไปสนับสนุน “อิสราเอล” เป็นหัวเรือในปัจจุบัน



ที่มาข้อมูล USS Gerald R. Ford (CVN 78), USNIWikipedia

ที่มารูปภาพ Wikipedia Commons


ข่าวที่เกี่ยวข้อง