"การการบินพลเรือน"ให้"สายการบิน"เพิ่มชดเชยกรณีล่าช้า-ยกเลิก

ทั้งนี้ ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 101 มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ได้เพิ่มความคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าหรือยกเลิก โดยไม่ได้แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าและผู้โดยสารเดินทางถึงสนามบินแล้ว
เช่น กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง สายการบินจะต้อง
- จัดอาหารและเครื่องดื่ม หรือคูปองสำหรับแลกซื้ออาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- จัดอุปกรณ์ให้แก่ผู้โดยสารเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ เช่น โทรศัพท์ e-mail โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
- ชำระค่าชดเชยเป็นเงินสดให้แก่ผู้โดยสารจำนวน 1,500 บาท หรือเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป (credit shell) หรือบัตรกำนัลการเดินทาง (travel vouchers) หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุเที่ยวบินล่าช้า
- จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน
ทั้งนี้ ข้อบังคับฉบับใหม่นี้ ยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินล่าช้าขณะที่เครื่องบินยังอยู่บนภาคพื้นและผู้โดยสารอยู่ในเครื่องบิน (Tarmac Delay) โดยสายการบินต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีเที่ยวบินล่าช้า และต้องจัดให้มีการไหลเวียนอากาศ การปรับอุณหภูมิ และการบริการห้องน้ำภายในห้องโดยสาร จัดให้ผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนเข้าถึงการได้รับบริการทางการแพทย์นั้นโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับ กบร. ฉบับที่ 101 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในอุตสาหกรรมการบินของไทย โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) จะเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่สายการบินและผู้โดยสารอย่างทั่วถึง