กรมศิลเตรียมตรวจสอบ"พระทองคำ"วัดจอมปราสาท
วันที่ 17 ธันวาคม 2563 จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายชนกฤษ์ ไชจันทร์ อายุ 69 ปี ไวยาวัชยากรและกรรมการ วัดจอมปราสาท และ พระอธิการนิพล กิตฺติสาโร เจ้าอาวาสวัดจอมปราสาทรูปปัจจุบัน ถึงการพบพระพุทธรูปเนื้อทองคำแท้ อายุ กว่า 247 ปี ตั้งแต่ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพปราบข้าศึกทัพพม่าที่โคกกระต่าย ค่ายบางแก้ว เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2317 จากการบอกเล่าสืบต่อกันมาของชาวบ้าน ที่ว่ามีชาวบ้านได้นำปูนมาปั้นเป็นพระพุทธรูปห่อหุ้มทองคำก้อนไว้ มีรูปลักษณ์เก่าแก่เนื้อสีดำลงลักษณ์ปิดทอง มีความสูงประมาณ 32 นิ้ว หรือ 80 เซนติเมตร หน้าตักประมาณ 24 นิ้ว หรือ 60 เซนติเมตร รูปทรงโตนั่งเอียงทางซ้าย พระพักตร์กลมใหญ่ หูยาว จมูกโด่งใหญ่ เกศาขดเป็นก้นหอยทรงกลมไม่มียอด เป็นพระพุทธรูปปางประทานธรรม เป็นพระพุทธรูปอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายถือด้ามสำหรับเสียบตาลปัตร มีสภาพความสมบูรณ์ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่ช่วงแขนซ้ายมีล่องรอยแตกกะเทาะเป็นชิ้น ช่วงฐานล่างซ้ายมีรอยแตกหักเป็นเนื้อปูนสีขาว เพื่อตบตาข้าศึกทัพพม่าไว้ โดยตั้งไว้ให้ทหารได้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจก่อนออกศึก
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบไปยังสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ทราบว่า วัดจอมปราสาท เดิมชื่อ วัดประสาท ได้ทำการสำรวจเมื่อ 24 ปีก่อน โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี สภาพภูมิศาสตร์เป็นวัดที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งตะวันออก เป็นวัดที่เกิดสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-กรุงรัตนโกสินตอนต้น มีหลักฐานด้านโบราณคดี และ เจดีย์ราย เป็นเจดีย์ถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง โดยทำการสำรวจไว้เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2539 บันทึกวันที่ 12 ต.ค.2539
โดยนางสาวศาริสา จินดาวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กล่าวว่า หลังจากที่มีชาวบ้านได้แจ้งมาว่าพบพระพุทธรูปโบราณที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี ต้องการให้ทางกรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ ปรากฏว่าวันนี้ได้ลงพื้นที่มาที่วัดแต่ไม่พบเจ้าอาวาสเนื่องจากทางเจ้าอาวาสติดธุระจึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ตามความประสงค์ของชาวบ้าน หากชาวบ้านต้องการให้มีการตรวจสอบก็ยินดี และไม่ต้องกังวลว่าจะทำการยึดกลับมาเป็นโบราณวัตถุของกรมศิลปากร เนื่องจากจะต้องได้รับการอนุญาตของเจ้าอาวาสเสียก่อน
ส่วนกรณีที่พระพุทธรูปองค์นี้จะมีอายุเก่าแก่เท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเป็นลักษณะงานพุทธศิลป์ที่สามารถพบในภาคกลางได้โดยทั่วไป ต้องรอตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง แต่ปัญหาที่ทางกรมศิลปากรเจอนั้น เวลาที่ชาวบ้านหรือวัดมีพระพุทธรูปสำคัญ ประชาชนหรือวัดมักจะซ่อน พวกเรากรมศิลป์มีหน้าที่รักษา แต่เราไม่ได้จะไปยึด หรือ ไปนำมาเข้าพิพิธภัณฑ์ เพระว่าในสิทธิ์เป็นเรื่องของวัดอยู่แล้ว ถ้าจะให้ทางกรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบเราก็ยินดี เพราะทางกรมเรามีหน่วยวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งจะเทศให้ได้หมดเลยว่าเป็นโลหะอะไร เป็นทองจริงหรือไม่ ซึ่งทางกรมก็จะเดินทางไปเข้าพบกับทางเจ้าอาวาสเพื่อขอเข้าไปตรวจสอบให้ได้อีกครั้ง
ด้านนายชนกฤษ์ ไชจันทร์ ไวยาวัชยากรและกรรมการ กล่าวว่า ทางกรรมการวัดได้มีการคุยกันในเบื้องต้นและได้ปรึกษากับทาง พระอธิการนิพล กิตฺติสาโร เจ้าอาวาสวัดจอมปราสาทรูปปัจจุบันแล้วในเบื้องต้น ทางวัดจะทำการขึ้นทะเบียนพระพุทธรูปเป็นทองคำ หรือ “พระพุทธปราสาททองจอมมุนีนาถ (หลวงปู่ทอง)” เพื่อที่จะรักษาและป้องกันเอาไว้ และทางวัดจะให้ทางกรมศิลปากรได้ตรวจพิสูจน์ว่าพระทองคำดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการโจรกรรมด้วย
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE