รีเซต

แม่ทัพภาค 4 ย้ำ! ป่าฮาลา-บาลา คืออัญมณีมีค่าลุยปราบผู้มีอิทธิพล

แม่ทัพภาค 4 ย้ำ! ป่าฮาลา-บาลา คืออัญมณีมีค่าลุยปราบผู้มีอิทธิพล
TNN ช่อง16
30 กรกฎาคม 2563 ( 10:21 )
120

ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ - ป่าฮาลา - บาลา ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ เป็นประธานการประชุมบูรณาการดำเนินการด้านทรัพยากรป่าไม้ ทก.ยว.ฉก.นราธิวาส เพื่อร่วมพูดคุยเสนอข้อคิดเห็นในการดูแลรักษาป่าฮาลา-บาลา ทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, คณะผู้บังคับบัญชา, นายอำเภอแว้ง, หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา, หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส, เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่า ป่าพรุ-ป่าฮาลา-บาลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือโดยพร้อมเพรียง

พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า วันนี้ได้มาร่วมประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันดูแลรักษาป่าฮาลา-บาลารวมถึงรับทราบปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามจับกุม และดำเนินคดีแก่ผู้ลักลอบตัดไม้ไปได้หลายคดีด้วยกัน ทั้งการลักลอบตัด เคลื่อนย้าย และแปรรูปไม้ในเขตป่าสงวน หลังจากนี้จะเร่งดำเนินการทางกฎหมายเพื่อสาวถึงกระบวนการผู้มีอิทธพลอย่างจริงจังโดยใช้ความจริงเข้าสู้ ซึ่งขณะนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกกฎข้อบังคับการขนย้ายไม้ในพื้นที่ ต้องผ่านด่านการตรวจสอบ และได้รับอนุญาตจากผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้การกำกับดูแลการลักลอบตัดไม้หรือขนไม้ผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมกันดูแลป่าฮาลา-บาลา ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ทั้งสัตว์ป่า และพืชพรรณ รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่า ร่วมกันสอดส่องดูแล หากพบเห็นสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ทันที ร่วมกันรักษาอัญมณีที่มีค่าผืนนี้ไว้ "คนกับป่าต้องอยู่ร่วมกันได้" แม่ทัพภาคที่4 กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ร่วมประชุมหารือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผืนป่าฮาลา-บาลา ทรัพยากรป่าไม่ที่สำคัญของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายลงไปมาก ด้วยน้ำมือของผู้แสวงหาผลประโยชน์จากป่าบุกรุกลักลอบตัดไม้ ขนย้าย และแปรรูปไม้ รวมถึงปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งดำเนินการแก้ปัญหา เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนให้สามารถพึ่งพา อาศัย อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน 

ป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าดิบชื้นบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสายสำคัญ 3 สายคือ แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำสุไหงโก-ลก ลักษณะโดยทั่วไปเป็นเขาสูงชัน สลับกับป่าที่ราบ ป่าบาราอยู่ในจังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่ประมาณ 105,725 ไร่ ส่วนป่าฮาลาอยู่ในจังหวัดยะลา มีเนื้อที่ประมาณ 165,000 ไร่ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดให้พื้นที่ป่าทั้ง 2 แห่งนี้ ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2539 เนื้อที่ประมาณ 270,725 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจะแนะ อำเภอจะแนะ ตำบลแว้ง ตำบล โละจูด อำเภอแว้ง ตำบลมะโมง ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถือได้ว่าป่าฮาลา-บาลา เป็นป่าพระผืนใหญ่ที่มีสภาพสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด และสัตว์ป่าหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือนกเงือก สัญลักษณ์ของป่าฮาลา-บาลา และยังเป็นสัตว์ที่ชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้ ปัจจุบันเขตอนุรักพันธ์ุสัตว์ป่าฮาลา-บาลาได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมความงาม และศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ป่าได้ตลอดเส้นทาง สนใจติดต่อ ได้ที่ สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ-ป่าฮาลา บาลา หมู่ที่ 5 ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส โทร 073-511-901


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง