รีเซต

"เซนเซอร์วัดระดับน้ำ" ในแปลงนาข้าวเรียลไทม์ ความหวังเกษตรกรไทย

"เซนเซอร์วัดระดับน้ำ" ในแปลงนาข้าวเรียลไทม์ ความหวังเกษตรกรไทย
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2566 ( 20:33 )
94

"เซนเซอร์วัดระดับน้ำ" ในแปลงนาข้าวเรียลไทม์ ความหวังเกษตรกรไทย 


นายนพดล ประยูรสุข ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบเซนเซอร์วัดระดับน้ำในแปลงนาเพื่อการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ซึ่งนำมาจัดแสดงในงาน TRIUP FAIR 2023 มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2566 ว่าระบบเซนเซอร์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ช่วยสนับสนุนการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในการผลิตข้าวพื้นที่นาชลประทาน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดการน้ำในแปลงนาที่กรมการข้าวดำเนินการวิจัยและเผยแพร่มาอย่างต่อเนื่อง โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นตัวต้นแบบที่พร้อมเผยแพร่สู่การนำไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบันได้นำมาทดสอบใช้ในแปลงวิจัยศูนย์ข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน และนาแปลงใหญ่จังหวัดฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และปทุมธานี ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลสำหรับจดอนุสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผลงานของกรมการข้าว



 




"เซนเซอร์วัดระดับน้ำ" วางแผนเต็มประสิทธิภาพและแม่นยำ 


ระบบเซนเซอร์นี้เป็นผลผลิตจากงานวิจัยภายใต้แผนงานนวัตกรรมด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตข้าวเพื่อรองรับการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งนายนพดลเป็นหัวหน้าโครงการขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มวิชาการ ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา ได้รับงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยใช้หลักการทำงานร่วมกันของเซนเซอร์ IoT และระบบคราวด์ เป็นอุปกรณ์ที่มีเซนเซอร์วัดระดับน้ำซึ่งได้มาจากการแปลงค่าความดันของน้ำในระดับความสูงจากผิวดินที่แตกต่างกัน แล้วส่งข้อมูลที่ตรวจวัดได้เข้าสู่ระบบคลาวด์เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูล ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลระดับความสูงของแปลงนาย้อนหลังได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก และยังส่งข้อมูลชุดดังกล่าวนี้เข้าระบบการแจ้งเตือนระดับน้ำผ่านแอปพลิเคชัน LINE ได้อีกด้วย ทำให้ผู้ใช้ทราบระดับน้ำในแปลงนาไปวางแผนจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งแบบเรียลไทม์อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

“ข้อแตกต่างของระบบเซนเซอร์วัดระดับน้ำในแปลงนาที่เราพัฒนาขึ้น คือ ใช้การตรวจวัดแรงดันน้ำ ข้อมูลที่ได้จะถูกแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลเพื่อดูระดับน้ำว่าอยู่สูงหรือต่ำกว่าระดับอ้างอิง ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับผิวดินในแปลงนา โดยใช้ความรู้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง นั่นคือ หากระดับน้ำต่ำกว่าผิวดิน -15 เซนติเมตร เราจะปล่อยน้ำเข้านาจนถึงระดับ +5 หรือ +10 เซนติเมตรเหนือผิวดิน ขณะที่ระบบเซนเซอร์ของหน่วยงานอื่นอาจจะใช้กระแสไฟฟ้าสปาร์คกันในการระบุความสูงของระดับน้ำ หรือใช้หลักการสะท้อนของคลื่นแสง” นายนพดลกล่าวเสริม




ประโยชน์หลายด้าน - ลดการใช้ทรัพยาการ 


ทั้งนี้ ระบบเซนเซอร์วัดระดับน้ำในแปลงนาดังกล่าวช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการใช้ทรัพยากรน้ำในการผลิตข้าวให้น้อยที่สุด และด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการทำนาน้ำขังลงได้อีกด้วย โดยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตข้าวลงได้มากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับการขังน้ำตลอดเวลาเพาะปลูก จากปกตินาข้าวใช้น้ำประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/ไร่/ฤดู เหลือเพียง 800 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มผลผลิตข้าวจากเดิมได้มากถึงร้อยละ 10-15 นอกจากนี้ยังสามารถลดการเกิดก๊าซมีเทนอันเป็นก๊าซสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากถึงร้อยละ 20-80 



ภาพ : ศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง