รีเซต

โควิด-19 : คนไทยพร้อมกักตัวที่บ้านหรือยัง หลังยอดติดเชื้อพุ่ง เตียงไม่พอ

โควิด-19 : คนไทยพร้อมกักตัวที่บ้านหรือยัง หลังยอดติดเชื้อพุ่ง เตียงไม่พอ
ข่าวสด
12 เมษายน 2564 ( 23:59 )
87

ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นวันละ 700 ถึงเกือบ 1,000 คน ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เมืองใหญ่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างกรุงเทพมหานคร เริ่มมีสถานการณ์ที่ผู้ป่วยหาเตียงไม่ได้ภายหลังไปตรวจเชื้อในโรงพยาบาลเอกชน จนกระทรวงสาธารณสุขต้องเปิดสายด่วนจัดหาเตียงให้คนไข้ นำมาสู่คำถามถึงการบริหารจัดการและ "ทางเลือก" เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

 

 

ชายวัย 30 ปี ทำงานเป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่งบอกกับบีบีซีไทยว่า ไปตรวจเชื้อที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. ได้รับผลยืนยันว่าติดเชื้อ แต่เนื่องจากสิทธิประกันสังคมอยู่ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง ทำให้เขาต้องรอการจัดหาเตียงและกักตัวอยู่ที่ที่พักเป็นเวลา 4 วัน จึงจะสามารถเข้ารับการรักษาได้

 

 

หรือกรณีแม่ลูกคู่หนึ่งที่ร้องเรียนผ่านสื่อว่าตรวจพบเชื้อเป็นบวก แต่โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง ไม่รับรักษา และเมื่อไปโรงพยาบาลรัฐ หญิงรายนี้อ้างว่าโรงพยาบาลให้ไปเริ่มกระบวนการตรวจใหม่ทั้งหมด เป็นกรณีที่สะท้อนสภาพติดขัดของการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงของการระบาดระลอกเดือน เม.ย.

 

 

สายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อเป็นศูนย์กลางจัดหาเตียงก็พบปัญหาว่า มีผู้ป่วยยืนยันบางส่วนที่ไม่สามารถโทรติดต่อได้ โดยบีบีซีไทย พบปัญหาจากผู้ติดเชื้อรายหนึ่งว่ารอโรงพยาบาลมา 2 วัน และเบอร์ 1668 ไม่สามารถติดต่อได้เลย

 

 

บีบีซีไทยทดลองโทรไปที่เบอร์ 1668 สองครั้ง ช่วยเที่ยงวัน แต่สายไม่ว่าง และลองโทรไปอีกครั้งช่วง 18.37 น. ไม่มีผู้รับสาย ก่อนโทรอีกครั้งเมื่อเวลา 18.54 น. จึงมีเจ้าหน้าที่รับสายให้คำปรึกษา

 

 

จากการแถลงของกรมการแพทย์วันนี้ (12 เม.ย.) ระบุตัวเลขการติดต่อสายด่วนว่า วันที่ 11 เม.ย. มีการประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย 20 ราย ส่วนวันที่ 10 เม.ย. รับสายจำนวน 245 ครั้ง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วย 157 คน ขอเตียง 115 ราย และสอบถาม 27 ราย

 


วันที่ 12 เม.ย. กทม.ได้พาสื่อเข้าดูการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 ของกรุงเทพฯ คือที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา บางบอน เขตบางบอน รองรับได้ 200 เตียง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้วันที่ 13 เม.ย.64

 

 

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้กลุ่มแพทย์บางส่วน เห็นว่าการกักตัวเพื่อรักษาที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย นอกเหนือจากโรงพยาบาลสนามที่รัฐกำลังทยอยจัดตั้ง เป็นอีกทางหนึ่งเพื่อรับมือกับการระบาดที่ในอนาคตอาจมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในหลักหลายพัน

 

 

"เป็นความโกลาหลแน่นอน เพราะเมืองไทยยังไม่เคยเจอปรากฏการณ์นี้ ต่างประเทศในยุโรปเขาเจอกันหมดแล้ว ยุโรปใช้วิธีการกักตัวที่บ้าน และถ้าไม่มีอาการมากบางคนก็ไม่ได้เจาะเลือด ไม่ได้ตรวจด้วยซ้ำว่าเป็นหรือไม่เป็นก็กักตัวเลย" นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ปะธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวกับบีบีซีไทย

 

 

จากสถานการณ์ขณะนี้ ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนและต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง บีบีซีไทยคุยกับประธานชมรมแพทย์ชนบทถึงทางเลือกนี้

 

 

ภาพอนาคตโรงพยาบาลสนามที่อาจไม่เพียงพอ ?

 

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วหากเกิดการระบาดหนักชนิดที่ไม่สามารถหาต้นตอหรือทิศทางของการระบาดได้ ก็ต้องมีการกักตัวที่บ้าน เพราะว่า 80 เปอรเซ็นต์ ป่วยน้อยหรือแทบไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีว่าเหมาะกับการกักตัวหรือไม่ เนื่องจากสภาพโดยทั่วไปของครอบครัวคนไทยเป็นครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะถ้ามีผู้สูงอายุ การกักตัวที่บ้านก็ไม่ควรทำ

 

นพ. สุภัทร กล่าวต่อด้วยว่า โรงพยาบาลสนาม อาจจะไม่จำเป็นสำหรับคนทุกคนหากบางคนสามารถกักตัวเองได้ เพราะว่าโรงพยาบาลสนามจะเหมาะกับคนที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่ ถ้ากักตัวเองที่บ้านอาจจะติดพ่อติดแม่ติดลูกในบ้านจึงจำเป็นต้องหาที่กลางเพื่อการกักตัว แต่สำหรับบางคนที่อยู่คอนโด อยู่บ้านคนเดียวหรือสองคน มีห้องที่ค่อนข้างจำเพาะและมีวินัยก็เลือกวิธีนี้

 

"โรงพยาบาลสนามมี 1,000 เตียงเชื่อว่า 2 วันเต็ม หลังจากนั้นแล้วจะทำอย่างไรเพราะคนนอน 14 วัน ต้องเปิดไปเรื่อย ๆ หรือ สุดท้ายก็ต้องเปิดโฮมควอรันทีนอยู่ดี เพราะว่าเปิดโรงพยาบาลสนามไม่ไหว"

 

ควรเริ่มตอนไหน

 

ในทัศนะของประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่าขณะนี้ ควรเตรียมความพร้อม การจะให้กักตัวที่บ้านก็ต้องคิดระบบรองรับให้การกักตัวเป็นการกักที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นฮอตไลน์หรือแอปพลิเคชั่นในการรายงานอาการ ระบบการปรึกษาแพทย์ และระบบการส่งรับผู้ป่วย ก่อนที่จะมีการประกาศนโยบายนี้

 

นพ.สุภัทร กล่าวว่าข้อบ่งชี้สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อการกักตัวที่บ้าน ต้องพิจารณาตัวเลขติดเชื้อรายวัน กับความวุ่นวายของระบบ หรือข้อร้องเรียนของผู้รับบริการที่ปรากฏต่อสือหรือโลกออนไลน์

 

 

"ต้องมีระบบฮอตไลน์หรือแอปพลิเคชั่นว่าถ้าติดแล้ว รายงานไปที่ไหน แล้วคนที่รับรายงานถ้าเป็นโรงพยาบาลหรือสาธารณสุข ก็มีระบบโทรตาม โทรถาม ถ้าไข้ขึ้นจะดูแลยังไง ต้องส่งทีมไปวัดไข้หรือไม่หรือให้เดินทางมาเอง ให้เดินทางยังไง... หรือว่าจะเป็นแอปฯ ติดตามตัวหรือไม่ อย่างนี้ก็จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจว่ากักตัวอยู่"

 

 

นพ.สุภัทร ท้ายที่สุดแล้วต้องเปิดให้มีการกักตัวเองที่บ้านได้ แต่เห็นว่าในช่วงสัปดาห์นี้ระบบกลางที่รองรับน่าจะยังไม่มีความพร้อม มิเช่นนั้น การเปิดให้กักตัวที่บ้านได้แต่ไม่มีระบบติดตามรองรับ "ก็จะเป็นการปล่อยให้ไปเผชิญชะตากรรมที่บ้าน"

 

 

เปลี่ยนความเข้าใจของผู้ติดเชื้อใหม่

 

ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เบื้องต้นต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่า ถ้าสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด ให้เน้นการกักตัวที่บ้าน แล้วโทรนัดคิวตรวจ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดที่จุดตรวจซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

"ต้องดูแลตัวเองเป็นสำคัญเพราะคนป่วยเป็นเป็นหลักพันหลักหมื่น มันไม่มีทางที่ระบบจะดูแลได้ โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง"

 

สภาวะตอนนี้ นพ.สุภัทร เห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นความตื่นตระหนก ซึ่งหากโรงพยาบาลต้องรับผู้ติดเชื้อยืนยันไว้ทั้งหมดที่อาจมีอาการไม่มากจะกระทบกับผู้ป่วยโรคอื่นที่มารับการรักษาอีกทางหนึ่ง

 

หากดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย พบว่าในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่ พบว่าตัวเลขสูงต่อเนื่อง ผู้ป่วยรายใหม่ประจำวันนี้ (12 เม.ย.)ที่เชียงใหม่พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 246 ราย ส่วนกรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยรายใหม่ 137 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 5,142 ราย เฉพาะระลอกใหม่ 3,606 ราย

 

 

อธิบดีกรมการแพทย์บอก ทุกคนต้องรักษาในโรงพยาบาล คือ นโยบายที่ตกลงกับฝ่ายการเมือง

 

การแถลงข่าวในวันนี้ (12 เม.ย.) ของ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นการยืนยันย้ำเป็นครั้งที่ 2 ว่า การที่ผู้ป่วยทุกต้องเข้ารักษาในสถานพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่หากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาก ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ ซึ่ง รพ.ที่ตรวจพบต้องเป็นผู้ประสานงานในเครือข่าย

 

"ขอย้ำอีกครั้งครับ ผู้ป่วยทุกคนจำเป็นต้องแอดมิท (เข้าพักในโรงพยาบาล) เพราะทางฝ่ายการเมือมีความชัดว่า ทุกคนควรได้รับการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ขอความกรุณาว่าให้มานอน รพ.เถอะครับ เราจัดเตียงให้ท่านอยากให้ท่านปลอดภัย...รอบนี้แม้จะเป็นผู้ที่มีอายุไม่มาก แต่พบว่าเป็นผู้ที่เป็นปอดอักเสบไม่น้อย แปลกมากครับ"

 

 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การเข้ารับการรักษาตัวไม่ว่าจะ รพ. ประเภทใด ก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่หากมีประกันส่วนบุคคลก็ขอให้ใช้สิทธิประกันร่วมจ่ายก่อน

 

โดยในขณะนี้ทั่วประเทศ มีเตียงสำรอง 23,000 เตียงโดยประมาณ ซึ่งในกรุงเทพฯเอง ข้อมูลถึง 11 เม.ย. เวลา 20.00 น. มีเตียงสำรอทั้งสิ้น 5,715 เตียง

 

วานนี้ (11 เม.ย.) มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่ต้องการเข้ารับการรักษาใน รพ.นั้น กล่าวว่า ขอความร่วมมือเข้าสู่สถานพยาบาล เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะสามารถกักตนเองได้ครบ 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของคนใกล้เคียง

 

เร่งเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอ

 

สำหรับประเด็นรพ.เอกชนนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้รพ.กลุ่มนี้ยังคงมีเตียงว่าง 1,132 เตียง รวมถึงยังมีฮอสปิเทล ซึ่งมีการจัดการโรงแรมมารองรับผู้ป่วยอาการน้อย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เอกชนดูแล

 

 

นอกจากนี้ นพ.สมศักดิ์ ยังย้ำช่องทางการติดต่อ คือ สายด่วน 1668 และ 1330 เพื่อการประสานจัดหาเตียง โดยขอความร่วมมือให้เป็นผู้ป่วยที่โทรหาเองโดยตรง หลีกเลี่ยงให้ญาตติดต่อ เพื่อลดความแออัดและซ้ำซ้อนของคู่สาย โดยกพื้นที่กรุงเทพกำลังขยายช่องทางการติดต่อเฉพาะกิจ 1669 สำหรับการจัดการเตียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง