รีเซต

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งอานิสงส์เมืองท่องเที่ยวคึกคัก (ตอน 9)

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งอานิสงส์เมืองท่องเที่ยวคึกคัก (ตอน 9)
TNN ช่อง16
31 มีนาคม 2564 ( 08:11 )
184

การมาของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นับเป็นเสมือนหัวรถจักรที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาชาติไปในหลายมิติ โดยเฉพาะอานิสงส์หลักไปสู่เมืองท่องเที่ยว กระตุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง นำไปสู่การผลักดันเศรษฐกิจในภาพรวมได้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่าการลงทุน  224,544 ล้านบาทนอกจากจะมีการประมาณการณ์ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 650,000 ล้านบาทแล้วยังจะเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนการพัฒนาในมิติต่างๆ อีกหลายประการโดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

เมื่อ “เวลา-ระยะทาง” ถูกทลายข้อจำกัด

ด้วยระยะทาง 220 กิโลเมตรจากกรุงเทพไปอู่ตะเภา ที่ประเมินว่าจะสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางแบบปกติไปได้มาก โดย รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา จากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - สถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภา แล้วตีกลับ จอดรับผู้โดยสารตามสถานีรายทางทั้งสิ้น 6 สถานี คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - ศรีราชา - พัทยา – ท่าอากาศยานอู่ตะเภา นั้น เงื่อนไขนี้ได้ทลายเพดานข้อจำกัดด้านเวลาและเป็นการสนับสนุนศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่เป็นต้นทุนเดิมของจังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน วิ่งผ่าน เป็นอย่างยิ่ง 

ดร.คณิศ แสงสุพรรณเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ระบุว่า สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งประมาณการผู้โดยสารจะมีประมาณ 15 ล้านคน ใน 5 ปีแรกนั้น  คาดว่า จะใช้บริการรถไฟความเร็วสูงประมาณ 3 ล้านคน/ปี  หรือประมาณ20% ของผู้โดยสาร ก็จะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย 

ศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่สามารถขนคนได้จำนวนมหาศาล ย่อมหมายถึง ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

รายได้ท่องเที่ยวเตรียมถูกทำลายสถิติ

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ระบุว่า จังหวัดชลบุรีช่วงปี 2559-2561 มีได้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุรายได้จาการท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทราช่วงปี 2557 -2559 เฉลี่ยประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท เมื่อขีดจำกัดในเรื่องระยะทางและเวลาถูกร่นให้สั้นขึ้น การเดินทางระหว่างเมืองสะดวกขึ้นการเติบโตของการท่องเที่ยวย่อมเป็นสัดส่วนผันแปรตาม

การมีสถานีจอดในจังหวัดชลบุรีย่อมทำให้หาดบางแสน ที่เคยสร้างรายได้ประมาณ 10,000 ล้านต่อปี (ข้อมูลจากเพจลงทุนแมน),และเมืองพัทยา ที่เคยสร้างรายได้ประมาณ 100,000 ล้านต่อปี (ข้อมูลจากเว็ปไซต์โพสต์ทูเดย์) หรือเกาะสีชัง ที่เคยสร้างได้ประมาณ 300 ล้านต่อปี (ข้อมูลจากเทศบาลตำบลเกาะสีชัง) เป็นตัวเลขรายได้ที่จะต้องถูกทำลายสถิติไปในอนาคต

เช่นเดียวกับจังหวัดฉะเชิงเทรา – ซึ่งเป็นพื้นที่สถานีจอดอีกสถานีหนึ่ง ย่อมทำให้ผู้คนเดินทางไปชื่นชมแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด , วัดสมานรัตนาราม ซึ่งมีพระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ, วัดโพรงอากาศ ซึ่งมีพระอุโบสถมหาเจดีย์ขนาดใหญ่สีทองอร่าม ,โบสถ์สเตนเลส วัดหัวสวน ซึ่งพุทธศาสนิกชนสร้างด้วยแรงศรัทธา เพื่อหวังให้โบสถ์มี อายุยาวเป็นพันปี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนอย่างตลาดคลองสวน ตลาดบ้านใหม่

นั่นคือการเพิ่มศักยภาพของต้นทุนการท่องเที่ยวเดิมที่จังหวัดท่องเที่ยวเหล่านี้มีอยู่แล้ว เมื่อรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินพาดผ่าน

แต่ผลพวงของการพัฒนาไม่ได้หยุดแค่นั้น !

10 ปีเกิดเมืองใหม่ Smart City

ภายใน 10 ปี ข้างหน้ายังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่เป็นผลพวงจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นั่นก็คือ การเชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพให้  ฉะเชิงเทรา ศรีราชา พัทยา ระยอง เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยจะเกิดกระบวนการพัฒนาไปสู่การเป็น เมืองแห่งอนาคต หรือ Smart City เช่น ฉะเชิงเทราจะเป็นเมืองพักอาศัยชั้นดีที่รองรับนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพ และพื้นที่ EEC ศรีราชาเมืองหลวงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ พัทยาเป็นศูนย์กลางการประชุมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

 สรุป

ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ประเทศไทยบนเวทีโลกไม่อาจหยุดนิ่ง อยู่กับการเป็นเพียงประเทศฐานการผลิตและพึ่งพิงการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยุคเก่า แต่ก็เช่นกันว่า การพัฒนาในยุค New Economy จะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยผลประโยชน์แห่งการพัฒนาต้องกระจายไปสู่ทุกภาคส่วน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง