บังคับดื่มเหล้ากับที่ทำงาน การสานสัมพันธ์หรือคุกคามสิทธิพนักงาน?
คดีอื้อฉาวที่พนักงานหญิงของบริษัทยักษ์ใหญ่ "อาลีบาบา" กล่าวหาว่าถูกหัวหน้างานข่มขืนหลังการดื่มสังสรรค์ในทริปทำงาน ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดทางโซเชียลมีเดียของจีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานที่กดดันให้ลูกจ้างต้องร่วมดื่มแอลกอฮอล์ในงานสังสรรค์ของบริษัท
การที่สายตาของสังคมกำลังจับจ้องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ จะช่วยทำให้วัฒนธรรมการดื่มเพื่อธุรกิจนี้หมดไปจากสังคมจีนได้หรือไม่
หมิงซี (นามสมมุติ) พนักงานบริษัทที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่งในนครกว่างโจว เล่าว่า ประมาณทุก 2 สัปดาห์เธอจะต้องไปดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรู้สึกหวาดกลัวเสมอมา
เพราะมันไม่ใช่แค่การออกไปดื่มแค่แก้วสองแก้วที่ผับหัวมุมถนนแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่มันเป็นการดื่มที่ยืดเยื้อซึ่งเธอไม่เคยรู้สึกสบายใจที่จะทำเลย
"ฉันมักกลัวว่าอะไร ๆ จะเลยเถิดเกินการควบคุม แม้ว่าฉันจะเป็นคนคอแข็งก็ตาม" พนักงานหญิงวัย 26 ปี เล่าให้บีบีซีฟัง
"บางครั้งเพื่อนร่วมงานมักพูดหยอกล้อเรื่องเพศที่ไม่ค่อยเหมาะสม และฉันต้องแกล้งทำเป็นขำไปกับพวกเขาด้วย"
ประสบการณ์ของหมิงซีเป็นเรื่องที่พนักงานหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากได้ประสบเช่นกัน และพวกเขาต่างรู้สึกถูกกดดันให้เข้าร่วมงานสังสรรค์แบบนี้ เพราะสังคมการทำงานในจีนให้ความสำคัญกับการสร้าง "กวนซี่"หรือการสร้างความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจ และการมีสถานะที่ดีในสายตาผู้บริหารระดับสูงกว่า
วัฒนธรรมการดื่มสังสรรค์กับคนที่ทำงานของจีนได้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม หลังจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทอาลีบาบาถูกกล่าวหาว่าข่มขืนลูกน้องหญิง
ในคำให้การหนา 11 หน้าของลูกจ้างหญิง ซึ่งถูกส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ "เวยโป๋" เมื่อเดือนก่อน ระบุว่า เธอถูกหัวหน้าข่มขืนขณะเมามายไม่ได้สติ หลังจากการดื่มอย่างหนักในระหว่างการเดินทางไปทำงานต่างเมือง
พนักงานหญิงคนนี้กล่าวหาว่า หัวหน้าสั่งให้เธอดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาดระหว่างการรับประทานอาหารค่ำ ก่อนที่ต่อมาเธอจะตื่นขึ้นมาในห้องพักโรงแรมในสภาพเปลือยเปล่า โดยที่จำเหตุการณ์ในคืนที่ผ่านมาไม่ได้เลย
หลังจากขอหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ลูกจ้างหญิงคนนี้ก็พบว่าผู้จัดการได้เข้าไปในห้องพักของเธอถึง 4 ครั้งในคืนเกิดเหตุ
บริษัทอาลีบาบาได้ไล่ออกผู้จัดการคนดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะไม่จ้างเขากลับเข้าทำงานอีก
ทว่าเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. อัยการจีนได้ถอนฟ้องคดีนี้โดยระบุว่า "การบังคับทำอนาจาร" ของผู้จัดการชายรายนี้ไม่ถือเป็นอาชญากรรม ขณะที่ตำรวจได้คุมขังเขาเป็นเวลา 15 วัน "เป็นการลงโทษ" แล้วก็ปิดการสอบสวนคดีนี้
เหตุการณ์นี้ได้จุดกระแสไม่พอใจในหมู่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจีน ซึ่งไม่ใช่เพราะเป็นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นการบังคับให้ลูกจ้างดื่มมากเกินไปในงานเลี้ยงทางธุรกิจ ซึ่งในเวยโป๋มีผู้คนจำนวนมากได้เล่าประสบการณ์ถูกกดดันให้ดื่มในลักษณะเดียวกันนี้
"ปฏิเสธคือการไม่เคารพ"
วัฒนธรรมการดื่มดังกล่าวของจีนคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่นที่เรียกว่า "โนมิไก" และของเกาหลีใต้ที่เรียกว่า "โฮซิก" ซึ่งถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนร่วมงาน
ในจีนการดื่มลักษณะนี้มักเป็นการกินเลี้ยงมื้อใหญ่ และมักมีการดื่ม "ไป๋จิ่ว" เหล้าขาวที่มีแอลกอฮอล์สูงถึง 60%
พนักงานที่มีอาวุโสน้อยกว่ามักแสดงความเคารพผู้อาวุโสกว่าด้วยการดื่มอวยพร และนักธุรกิจที่ต้องการเอาใจลูกค้าก็จะทำแบบเดียวกัน
นายรุ่ย หม่า นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์ร่วมงานเลี้ยงลักษณะนี้ในจีนอย่างโชกโชนเล่าว่า "โดยทั่วไปคุณจะพูดยกยอ และแสดงความซาบซึ้งใจที่ได้มีสายสัมพันธ์นี้"
"ยิ่งคุณดื่มอวยพรมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งเมามากขึ้นเท่านั้น"
บางครั้งผู้จัดการอาวุโสจะกดดันให้พนักงานใหม่ช่วยดื่มเหล้าในส่วนของเขา จนทำให้พนักงานใหม่เมามายไม่เป็นท่า
นอกจากนี้ พนักงานหลายคนยังรู้สึกว่าการปฏิเสธเข้าร่วมงานเลี้ยงลักษณะนี้เป็นเรื่องยาก
ฮั่นหวี่ หลิว นักวิเคราะห์ตลาดจากบริษัทที่ปรึกษา Daxue Consultingเล่าว่า "การปฏิเสธคำเชิญงานแบบนี้จะถูกมองเป็นการไม่ให้เกียรติอย่างร้ายแรง และไม่มีลูกจ้างที่อยากก้าวหน้าในการงานคนไหนที่กล้าจะปฏิเสธคำเชิญนี้"
หมิงซี ยอมรับว่า เธอกลัวว่าจะถูกกีดกันในที่ทำงานหากไม่ยอมไปร่วมงานสังสรรค์แบบนี้
"งานเลี้ยงแบบนี้มีความสำคัญมาก และบางคนมักใช้เป็นโอกาสในการประจบสอพลอผู้บริหารระดับสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนี้" เธออธิบาย
เมื่อปี 2016 รัฐบาลจีนได้ปราบปรามการกระทำลักษณะนี้ในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ยังคงทำกันอยู่ในบริษัทเอกชน และมีข่าวใหญ่ให้ได้ยินกันอยู่เนือง ๆ
เมื่อเดือน ม.ค.ปี 2020 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเมืองเซินเจิ้นเสียชีวิตหลังจากถูกเจ้านายกดดันให้เข้าร่วมแข่งดื่มสุราในงานเลี้ยงอาหารค่ำหลังเลิกงาน
เพื่อนร่วมงานของเขาก็ถูกบังคับให้ดื่มเกินขนาดเช่นกัน และถูกส่งเข้าโรงพยาบาลจากภาวะสุราเป็นพิษ (alcohol poisoning) สื่อจีนรายงานว่า บริษัทนายจ้างได้จ่ายค่าชดเชย 5,000 หยวน (ราว 26,500 บาท) เป็นค่ารักษาพยาบาลให้เขา ขณะที่หัวหน้างานที่เกี่ยวข้องได้ลาออกจากงาน
จากนั้นเมื่อเดือน ส.ค.ปีเดียวกัน มีพนักงานธนาคารคนหนึ่งในกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่าเขาถูกตำหนิและถูกตบหน้า เพราะปฏิเสธเครื่องดื่มจากเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในงาน
ในเวลาต่อมา ธนาคารต้นสังกัดได้ยอมรับว่าพนักงานอาวุโสคนดังกล่าวทำผิดกฎบริษัท และกล่าวขออภัยแทนเขา พร้อมระบุว่าได้ออกหนังสือเตือนและตัดเงินเดือนพนักงานรายนี้แล้ว
ยุติธรรมเนียมที่ "น่ารังเกียจ"
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กระแสไม่พอใจต่อหลายเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในระยะหลังนี้น่าจะทำให้วัฒนธรรมการบังคับดื่มเหล้าในองค์กรหมดไปในอีกไม่ช้า
นายหลิว จากบริษัทที่ปรึกษา Daxue Consulting บอกบีบีซีว่า "การดื่มทางธุรกิจเกิดขึ้นมายาวนาน แต่เหตุผลเดียวที่คดีของอาลีบาบาเผชิญกระแสต่อต้านจากสังคมก็เพราะโซเชียลมีเดีย"
เขาชี้ว่า หลังจากทางการจีนปราบปรามธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้มาแล้วในหลายภาคส่วน บริษัทต่าง ๆ น่าจะระวังตัวยิ่งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกรัฐเข้าจัดการ
หลังจากข่าวคดีข่มขืนพนักงานอาลีบาบาถูกเปิดโปง นายแดเนียล จาง ประธานกรรมการบริหารของอาลีบาบากรุ๊ป ระบุในข้อความถึงพนักงานว่า บริษัท "ต่อต้านอย่างรุนแรงต่อวัฒนธรรมการบังคับดื่มแอลกอฮอล์"
หลังจากนั้นไม่นาน หน่วยงานปราบปรามการทุจริตของจีนเรียกร้องให้ยุติธรรมเนียม "ที่น่ารังเกียจ" นี้ พร้อมระบุว่าจะเพิ่มความเข้มงวดในการสอดส่องบริษัทต่าง ๆ ของจีนเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้