รีเซต

AI ถอดคำศัพท์ม้วนหนังสือโบราณได้ครั้งแรก หลังไหม้เป็นถ่านเกือบ 2,000 ปี

AI ถอดคำศัพท์ม้วนหนังสือโบราณได้ครั้งแรก หลังไหม้เป็นถ่านเกือบ 2,000 ปี
TNN ช่อง16
31 ตุลาคม 2566 ( 00:25 )
84
AI ถอดคำศัพท์ม้วนหนังสือโบราณได้ครั้งแรก หลังไหม้เป็นถ่านเกือบ 2,000 ปี
คงไม่มีใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่งมนุษยชาติจะสามารถอ่านม้วนกระดาษที่ไหม้เป็นตอตะโกได้ แต่สิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้นี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อมหาวิทยาลัยเคนทักกี (Universal of Kentucky) ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศความสำเร็จว่ามีผู้สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการถอดตัวอักษรจากม้วนหนังสือโบราณ ให้เป็นคำศัพท์ที่สมบูรณ์ได้คำแรก

โดยหนังสือโบราณดังกล่าว ถูกเผาไหม้จากภูเขาไฟวิสุเวียส ที่ระเบิดไปเมื่อคริสต์ศักราชที่ 79 ในเมืองเฮอร์คูเลเนียม (Herculaneum) ประเทศอิตาลี

ศาสตราจารย์เบรนท์ ซีลส์ (Prof Brent Seales) และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์คนอื่น ๆ จากมหาวิทยาลัยเคนทักกี แจ้งข่าวดีดังกล่าว ภายหลังการเปิดตัวโครงการวิสุเวียส ชาแลนจ์ (Vesuvius Challenge) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีความสามารถแข่งขันถอดตัวอักษรจากม้วนหนังสือโบราณเพื่อชิงเงินรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนจากซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) แหล่งบ่มเพาะด้านเทคโนโลยีระดับโลก ของสหรัฐอเมริกา 

ตอนเปิดตัวโครงการดังกล่าว ซีลส์และทีมงาน ได้เผยแพร่ภาพเอ็กซเรย์ 3 มิติจำนวนหลายพันภาพจากม้วนหนังสือโบราณ 2 ม้วน รวมถึงชิ้นส่วนกระดาษปาปิรุสอีก 3 ชิ้น นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับการฝึกฝนให้อ่านตัวอักษรโบราณในม้วนหนังสืออีกด้วย 

เทคโนโลยีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเทคนิคที่เรียกว่า “เวอร์ชวล อันแวร็ปปิง” (Virtual unwrapping) ซึ่งใช้ในการถอดรหัสตัวอักษรจากม้วนหนังสือโบราณด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติม้วนกระดาษที่ถูกทำลายแต่ละม้วน หลังจากนั้นภาพสแกนม้วนกระดาษ 3 มิตินั้นจะถูกคลี่แบบเสมือนจริงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูงที่ถูกสร้างขึ้นโดยซีลส์ ได้รับการพัฒนามาเกือบ 20 ปี ในการถอดตัวอักษรเป็นคำศัพท์ขึ้นมา

การถอดตัวอักษรดังกล่าว 2 นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ได้แก่ ลุก ฟาร์ริเตอร์ (Luke Farritor) จากมหาวิทยาลัยนีบราสกา (University of Nebraska) ประเทศสหรัฐอเมริกา และยูสเซฟ นาเดอร์ (Youssef Nader) จากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว ยังได้ร่วมปรับปรุงกระบวนการค้นหาและตีความคำในภาษากรีกโบราณ คือคำว่า “πορφυρας” หรือ “porphyras” ซึ่งแปลว่า “สีม่วง” ซึ่งปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าหนังสือโบราณนี้ กำลังพูดถึงอะไร และเชื่อว่าจะได้รับการเปิดเผยเร็ว ๆ นี้ 
 
แน่นอนว่าความท้าทายต่อไปคือการอ่านตัวอักษรที่อยู่รอบข้างที่มีความยาวมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้การศึกษาม้วนหนังสือที่ไหม้เกรียมจากการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียสเมื่อเกือบ 2,000 ปี มีความหวังมากขึ้น

ทั้งนี้ ม้วนหนังสือโบราณของเมืองเฮอร์คูเลเนียมที่ถูกนำมาศึกษาในครั้งนี้ถือว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ยุคคลาสสิกที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติที่น่าหวาดกลัว หลังจากที่เกิดเหตุการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียสเมื่อปีคริสต์ศักราชที่ 79 ส่งผลให้เมืองปอมเปอีและเมืองเฮอร์คิวเลเนียม พร้อมผู้คนหลายพันชีวิตจมอยู่ใต้เถ้าถ่าน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อศึกษาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในอดีตจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรค่าแก่การศึกษาต่อมนุษยชาติอย่างมาก

ที่มาของข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง